ที่มา: วารสารโคนม ปีที่ 17 ฉบับที่ 2
ผู้เขียน: น.สพ.กฤช พจนอารี
เรามีทางเลือกแค่ 2 ทางเท่านั้น เพื่อต้องการจะผสมพันธุ์วัวของเรา คือการผสมเทียมหรือการผสมจริง ส่วนใหญ่นักวิชาการหรือนักส่งเสริมมักจะแนะนำการผสมเทียมเนื่องจากมีข้อดีต่างๆ มากมาย ทั้งทางด้านความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและทางด้านการปรับปรุงพันธุ์
ยกตัวอย่าง ด้านปรับปรุงพันธุ์ ในอเมริกามีการเปรียบเทียบ (โดยประมาณ) พบว่า โดยเฉลี่ยพ่อพันธุ์ที่นำมาผลิตน้ำเชื้อแช่แข็ง (แล้วเอาน้ำเชื้อออกไปผสมเทียม) มีค่าทางพันธุกรรมซึ่งให้ผลตอบแทนสูงกว่าวัวตัวผู้ที่ทำการผสมจริงถึง 98 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ 1 ช่วงการรีดนม (ประมาณ 4,000 บาท) ถึงกระนั้นก็ตาม การใช้วัวตัวผู้คุมฝูงกลับมีอัตราส่วนเพิ่มขึ้นจาก 35% ในปี 1990 มาเป็น 42% ในปี 1997 ในฝูงแม่โคและในฝูงวัวสาวเพิ่มจาก ในปี 1990 มาเป็น 50% ในปี 1996
น่าสนใจ ทำไมแม้แต่ในอเมริกาที่ระบบการให้บริการผสมเทียมก็ถือว่าดีแล้ว ยังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น จากการสำรวจพบว่าเป็นเพราะความเชื่อบางอย่างที่เกษตรกรยึดถือ เช่น การใช้พ่อพันธุ์คุมฝูงประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าการใช้บริการผสมเทียม สะดวกกว่า และมีการพิสูจน์ว่าเป็นพ่อพันธุ์ที่ดีแบบคร่าวๆ แล้ว นอกจากนี้ ยังมีความคิดที่ว่า การมีพ่อพันธุ์คุมฝูงจะช่วยในการจับสัดรวมถึงช่วยผสมวัวเป็นสัดในฝูงได้ดีก็เลยจะทำให้ลดช่วงระยะเวลาที่วัวจะท้องว่าง (ไม่ท้อง) ลงได้ก็เลยเกิดธรรมเนียมใหม่ที่ว่า ถ้าวัวได้รับการผสมเทียม 2 หรือ 3ครั้งแล้วยังไม่ท้อง ก็จะถูกส่งมาให้พ่อพันธุ์คุมฝูงเก็บตกให้จนท้องความเป็นจริงก็คือ มันยิ่งกว่าเก็บตก น่ะซี
ด้วยเปอร์เซ็นต์การผสมติดเฉลี่ยของการผสมเทียมในปัจจุบัน 40% วัวที่ให้นมสูงจะมีเพียง 64% เท่านั้น ที่จะผสมติด ในการผสม 1 ถึง 2 หลอด หรือพูดอีกอย่างว่ามี 78% ของฝูงที่ว่านี้จะผสมติดได้ในการผสมน้อยกว่าหรือเท่ากับ 3 หลอดเพราะฉะนั้น ถ้าให้ตัวผู้คุมฝูงมาจัดการจับวัวที่เหลืออยู่ก็หมายความว่า วัว 22% ของฝูงจะถูกผสมโดยเจ้าผู้นั้นตัวเลขนี้สูงจนน่าตกใจทีเดียว เพราะเป็น 1 ใน 4 ของฝูงที่เรามีอยู่ มากจนไม่น่าเรียกว่า เก็บตก ได้
บางคนคิดไปอีกแบบหนึ่งว่า ไม่น่ามีปัญหาเพราะลูกวัวที่เกิดจากพ่อวัวคุมฝูงเขาจะขายออกไม่เก็บเอาไว้ แต่ก็นั่นแหละมีอะไรอีกหลายอย่างที่จะต้องดูกันต่อไป คำถามแรกที่เกิดขึ้นก็คือ ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูโคตัวผู้จนโตราคาเท่าไรถ้าไม่คิดค่าตัว คิดเฉพาะค่าอาหารวันละ 4 กก. กก. ละ 5 บาท ปีหนึ่งก็ตก 7,300 บาท ตามปกติใช้วัวตัวผู้ 1 ตัวต่อแม่วัว 20 ตัว เพราะฉะนั้นค่าผสมให้แม่วัวท้องก็เท่ากับ 365 บาทต่อตัว (นี่เฉพาะค่าอาหารเท่านั้น) คำถามที่ 2 ก็คือ วัวตัวผู้ทุกตัวรึเปล่าที่ทำหน้าที่ได้ดี ตั้งแต่การจับสัด การขึ้นผสมเพื่อให้แม่วัวตั้งท้อง เพราะฉะนั้นต้องคิดถึงการคัดทิ้ง เนื่องจากวัวตัวผู้ไม่มีคุณภาพด้วย ถ้าคัดทิ้งในอัตราส่วน 1:1 คือ เลี้ยงมา 2 ตัว เก็บ 1 ตัว คัดทิ้ง 1 ตัว เพราะฉะนั้นค่าผสมจริงก็เท่ากับ 730 บาทต่อตัว และอาจมีของแถมเป็นโรคติดต่อทางระบบสืบพันธุ์หรือโรคระบาดในฝูงได้อีกด้วย
ถ้าไม่มีการตรวจสอบ ทดสอบวัวตัวผู้ เราอาจได้วัวที่เป็นหมันมาคุมฝูง ถ้ามีวัวคุมฝูงแค่ 1 ตัว ก็คงดูไม่ยุ่งยากมากนัก แต่ถ้ามีหลายตัวที่เป็นจ่าฝูงเกิดเป็นหมันละก็อัตราการผสมติดในฝูงจะยิ่งต่ำลงไปอีก ทั้งๆ ที่ดูเหมือนมีตัวผู้จำนวนมากพอ สำหรับแม่วัว แต่จ่าฝูงจะผสมวัวจำนวนมากกว่าตัวลูกน้อง แต่ถ้ามีตัวผู้น้อยเกินไป ต่อให้ฟิตมาดียังไงก็คงหมดแรงข้าวต้มเข้าสักวันเหมือนกัน
สภาพอากาศที่ร้อนจัด โดยเฉพาะร้อนชื้นแบบบ้านเรายิ่งมีผลกับคุณภาพน้ำเชื้ออย่างรุนแรง ทั้งในแง่ของจำนวนอสุจิ ความแข็งแรงของตัวอสุจิ ความสามารถในการเคลื่อนที่ของอสุจิ และยังส่งผลให้มีตัวอสุจิผิดปรกติเพิ่มขึ้นจากปรกติด้วย ซึ่งกว่าจะกลับสู่สภาพปรกติก็นานกว่า 2 เดือน ฉะนั้นถ้าการดูแลโคตัวผู้ที่คุมฝูงไม่ดีพอ เราอาจไม่ได้อะไรเลยจากตัวคุมฝูง นอกจากชั่งกิโลขายเป็นเนื้อ ที่ต้องย้ำอีกครั้งสำหรับโคคุมฝูงก็คือ การนำโรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จากตัวหนึ่งไปยังอีกหลายตัวในฝูง
อีกเรื่องหนึ่งที่การใช้วัวคุมฝูงสู้การผสมเทียมไม่ได้ก็คือ เรื่องการบันทึกข้อมูล เพราะเราไม่สามารถรู้วันเวลาที่วัวขึ้นทับจริงได้เลย ต่างกับการผสมเทียม ซึ่งเมื่อเอาข้อมูลต่างๆมาประมาณผลเราสามารถรู้ประสิทธิภาพของฟาร์มได้ ทั้งนี้นับตั้งแต่วันท้องว่าง วันผสม วันกำหนดคลอด อัตราผสมติด ฯลฯ ถ้าใช้ตัวผู้คุมฝูงกว่าจะรู้ว่ามีปัญหา ก็ต้องใช้เวลานานกว่า 4 ถึง 5 เดือน การกำหนดวันดรายวัวก็สำคัญไม่ใช่น้อย ถ้าใช้ตัวผู้คุมฝูงก็ต้องใช้การประมาณวันดรายวัว ซึ่งถ้าผิดพลาดจะมีผลต่อสุขภาพของแม่โคเป็นอย่างมาก ถ้าระยะดรายสั้นไป เต้านมก็ได้ที่ได้มักไม่เพียงพอ ผลก็คือ นมในท้องนั้นก็ไม่ดีเท่าที่ควรจะได้ ถ้าพักท้องนานไปก็เสียเงิน เสียนมเปล่าๆ
ประเด็นสุดท้าย ที่ควรพิจารณาก่อนตัดสินใจเก็บตัวผู้ไว้คุมฝูง คือ ความปลอดภัยของทั้งคนทั้งวัว แม่วัวอาจถูกชนอาจถูกขึ้นทับจนล้มขาฉีกในคอกที่ลื่น คนเลี้ยงอาจถูกชนบาดเจ็บหรือแม้แต่เสียชีวิต ในรัฐวิสคอนซิสเพียงรัฐเดียวมีคนตายอย่างน้อย 1 คนต่อปี เนื่องจากถูกพ่อพันธุ์ชน ไม่มีใครพยากรณ์ล่วงหน้าได้ว่า วัวจะชนเราเมื่อไร แต่หลอดน้ำเชื้อไม่เคยก่อเรื่องอย่างนั้นเลยสักครั้ง ไม่ว่ากับใครก็ตาม