ผู้แต่ง: ผศ.ดร.ศกร คุณวุฒิฤทธิรณ

อายุเมื่อคลอดลูกครั้งแรก (Age at First Calving; AFC) ในโคนมเป็นลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจลักษณะหนึ่งที่มีส่วนช่วยให้เกษตรกรหรือผู้ผลิตสามารถลดต้นทุนการผลิตและมีโอกาสในการใช้ประโยชน์จากโคสาวในระบบการผลิตของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความผันแปรของอายุเมื่อคลอดลูกครั้งแรกนั้นเกิดจากความแตกต่างทางพันธุกรรมของโคนมที่นำมาใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์และคุณภาพของการจัดการที่โคเหล่านั้นได้รับ โดยทั่วไปโคนมในตระกูลโคอินเดีย (Bos indicus) หรือโคที่มีพื้นฐานการพัฒนาทางพันธุกรรมในเขตร้อนมักคลอดลูกครั้งแรกที่อายุมากกว่าโคในตระกูลโคยุโรป (Bos taurus) หรือโคที่มี พื้นฐานการพัฒนาทางพันธุกรรมในเขตอบอุ่น และโคที่ได้รับการจัดการเลี้ยงดูจนมีสภาพร่างกายสมบูรณ์มักแสดงพฤติกรรมทางเพศ และคลอดลูกตัวแรกออกมาได้รวดเร็วกว่าโคที่ได้รับการจัดการเลี้ยงดูที่ด้อยกว่า ด้วยเหตุนี้หากเกษตรกรต้องการพัฒนาลักษณะอายุเมื่อคลอดลูกครั้งแรกในระบบการผลิตของตนให้เป็นไปในทิศทางที่ตนเองต้องการ เกษตรกรจำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อการพิจารณาทั้งการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์โคนมและการปรับปรุงคุณภาพการจัดการฟาร์มพร้อมๆ กัน

ประชากรโคนมของประเทศไทย เป็นประชากรโคนมที่มีพื้นฐานการพัฒนาพันธุกรรมเริ่มต้นมาจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างโคในตระกูลอินเดียและโคในตระกูลยุโรป หลังจากนั้นจึงผสมพันธุ์โคนมรุ่นถัดมาด้วยวิธียกระดับสายเลือด (up-grading) ซึ่งพันธุ์โคที่นิยมใช้ส่วนใหญ่เป็นโฮลสไตน์ (Holstein) หรือพันธุ์ขาว-ดำ แต่อย่างไรก็ตาม โคพันธุ์อื่นๆ เช่น เจอร์ซี่ (Jersey) และ บราวน์สวิส (Brown Swiss) ก็ได้รับความนิยมนำไปใช้ผสมพันธุ์เช่นกัน การผสมพันธุ์ดังกล่าวส่งผลให้ในปัจจุบันโคนมในประชากรโคนมของประเทศไทยส่วนใหญ่ (มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์) เป็นโคนมลูกผสม และมีพันธุ์โคปรากฏในประชากรทั้งในรูปโคนมพันธุ์แท้และลูกผสมมากกว่า 7 พันธุ์ที่แตกต่างกัน ดังนั้น การพิจารณาความสามารถที่แสดงออกภายนอก (phenotypic ability) และความสามารถทางพันธุกรรม (genetic ability) ของโคพ่อแม่พันธุ์แต่ละตัว ตลอดจนแนวโน้มการพัฒนาความสามารถ (trends) สำหรับลักษณะอายุเมื่อคลอดลูกครั้งแรกจึงมีความสำคัญต่อการนำไปใช้ประโยชน์ในการคัดเลือกสัตว์พ่อแม่พันธุ์ และต่อการนำไปใช้ประกอบการวางแผนเพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตในภาพรวม ด้วยเหตุนี้ ข้อมูลอายุเมื่อคลอดลูกครั้งแรกพร้อมด้วยพันธุ์ประวัติของโคนมสาว จำนวน 1,024 ตัว ที่รวบรวมได้จากเกษตรกรในพื้นที่ภาคกลางจำนวน 76 ราย จึงถูกนำมาวิเคราะห์ค่าทางสถิติเพื่อประมาณคุณค่าการผสมพันธุ์ (Estimated Breeding Value; EBV) และศึกษาแนวโน้มการพัฒนาอายุเมื่อคลอดลูกครั้งแรกของโคนมในประชากรโคนมที่ได้รับการเลี้ยงดู ภายใต้สภาพแวดล้อมของประเทศไทย

คุณค่าการผสมพันธุ์สำหรับลักษณะอายุเมื่อคลอดลูกครั้งแรกของโคแต่ละตัวที่ปรากฏในประชากรถูกนำเสนอในหนังสือค่าการผสมพันธุ์โคนม 2547 อายุเฉลี่ยเมื่อคลอดลูกครั้งแรกของโคนมในประชากรที่ศึกษามีค่าเท่ากับ 30 เดือน (2 ปี 6 เดือน) ค่าดังกล่าวบอกเป็นนัยให้ทราบว่า โคสาวในประชากรนี้ผสมติดเมื่ออายุประมาณ 21 เดือน (1 ปี 9 เดือน) เมื่อพิจารณาอายุเมื่อคลอดลูกครั้งแรกจำแนกตามความแตกต่างทางพันธุกรรมของโคนมแต่ละกลุ่มพันธุ์ (มีระดับสายเลือดโฮลสไตน์ที่แตกต่างกัน) พบว่า โคนมกลุ่มที่มีอายุเฉลี่ยเมื่อคลอดลูกครั้งแรกต่ำที่สุด คือ โคนมที่มีระดับสายเลือดโฮลสไตน์อยู่ระหว่าง 90 ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ (29.87 + 0.34 เดือน) รองลงมาได้แก่ โคนมที่มีระดับสายเลือดโฮลสไตน์อยู่ระหว่าง 80 ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ (30.45 + 0.27 เดือน) ตามลำดับ และโคนมที่มีอายุเมื่อคลอดลูกครั้งแรกเฉลี่ยสูงที่สุดได้แก่ โคนมที่มีระดับสายเลือดโฮลสไตน์ต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ (ตารางที่ 1) อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างของอายุเมื่อคลอดลูกครั้งแรกระหว่างกลุ่มโคต่างๆ ดังกล่าวนี้ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (P>0.05)

ตารางที่ 1 ค่าเฉลี่ยและความคลาดเคลื่อนมาตรฐานสำหรับลักษณะอายุเมื่อคลอดลูกครั้งแรกและปริมาณน้ำนมรวมที่ 305 วัน ของโคนมเพศเมีย** จำแนกตามความแตกต่างของระดับสายเลือดพันธุ์โคนมโฮลสไตน์


* ค่าเฉลี่ยแบบลีสแควร์ + ความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน
** อายุเมื่อคลอดลูกครั้งแรก (เดือน) และปริมาณน้ำนมรวมที่ 305 วัน (กิโลกรัม) ของโคนมเพศเมียที่ผ่านการปรับค่าจากความแตกต่างในฟาร์ม ปี และฤดูกาลที่คลอดลูกแล้ว
ab ตัวอักษร a และ b ในแนวตั้งต่างกัน ค่ามีความแตกต่างกันทางสถิติที่นัยสำคัญ 0.05

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 ถึง พ.ศ. 2543 โคนมเพศเมียที่เกิดใหม่ในแต่ละปีมีคุณค่าการผสมพันธุ์และความสามารถที่แสดงออกภายนอกสำหรับอายุเมื่อคลอดลูกครั้งแรกลดลงทุกปี (ภาพที่ 1) เหตุการณ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า โคนมที่เกิดใหม่ในแต่ละปีนั้นสามารถผสมพันธุ์และอุ้มท้องได้รวดเร็วยิ่งขึ้น การลดลงของอายุเมื่อคลอดลูกครั้งแรกของโคนมที่เกิดใหม่ในแต่ละปีเช่นนี้บอกเป็นนัยให้เห็นถึงโอกาสในการใช้ประโยชน์จากโคสาวได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โอกาสในการได้มาซึ่งผลผลิตต่อช่วงชีวิตของโคที่มากขึ้น และโอกาสในการลดต้นทุนการผลิตจากการลดจำนวนวันที่ใช้ในการผลิตโคสาวลง

ภาพที่ 1 แนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงคุณค่าการผสมพันธุ์และความสามารถที่แสดงออกภายนอก
สำหรับลักษณะอายุเมื่อคลอดลูกครั้งแรกของโคนมเพศเมียที่เกิดใหม่ในแต่ละปี
นับตั้งแต่ พ.ศ. 2531 ถึง พ.ศ. 2543 เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของโคนมที่เกิดใน ปี พ.ศ. 2531

การลดลงของอายุเมื่อคลอดลูกครั้งแรกอย่างต่อเนื่องในประชากรโคนมหลากหลายพันธุ์ที่นำมาศึกษาในครั้งนี้อาจมีสาเหตุมาจากหลายประการ เช่น 1) การผสมพันธุ์โคนมของเกษตรกรโดยวิธียกระดับสายเลือด (upgrading) ของพันธุ์โคนมโฮลสไตน์ ซึ่งเป็นโคในตระกูลโคยุโรปที่มีอายุเมื่อคลอดลูกครั้งแรกต่ำกว่าโคในตระกูลโคอินเดีย 2) เกษตรกรมีประสบการณ์และความชำนาญในการจัดการดูแลโคนมสาวมากขึ้น ส่งผลให้โคนมสาวที่เกิดใหม่ในปีถัดมามีความสมบูรณ์พร้อมที่จะผสมพันธุ์และให้ลูกได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และ 3) ค่านิยมเกี่ยวกับการเร่งผสมพันธุ์โคสาวเพื่อให้มีลูกและให้ผลผลิตเร็วยิ่งขึ้น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากต้องการพัฒนาให้อายุเมื่อคลอดลูกครั้งแรกในโคนมลดลงนั้น (คลอดลูกเมื่ออายุยังน้อย) เกษตรกรและผู้ผลิตโคนมจำเป็นต้องพิจารณาเอาใจใส่ และการดำเนินการดังกล่าวจะต้องไม่ส่งผลกระทบและก่อให้เกิดความเสียหายให้กับลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจอื่นๆ