ที่มา: วารสารโคนม ปีที่ 24 ฉบับที่ 2

ผู้แต่ง: รศ.สพ.ญ.ดร.สุนีรัตน์ เอี่ยมละมัย

เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่อยู่คู่กับโคนมไม่ว่าประเทศใดก็ตาม และเป็นปัญหาสำคัญที่กระทบต่อประสิทธิภาพการผลิตและขยายพันธุ์ในสัตว์ทุกชนิด ปัญหาการผสมติดยากในโคนมเป็นปัญหาคู่กับโคนมเช่นเดียวกับโรคเต้านมอักเสบ ซึ่งในต่างประเทศปัญหาทั้งสองเป็นปัญหาหลักที่ความสูญเสียให้แก่ธุรกิจโคนมมากที่สุด  โดยในประเทศที่มีการซื้อขายน้ำนมดิบที่ใช้เกณฑ์การใช้ราคาจากค่าโซมาติกเซลล์ (เซลล์เม็ดเลือดขาวในน้ำนม)ด้วยพบว่าปัญหาโรคเต้านมอักเสบเป็นปัญหาอับดับแรกที่ทำความสูญเสียทางเศรษฐกิจการเลี้ยงโคนมที่สำคัญที่สุดโดยมีปัญหาการผสมติดยากเป็นปัญหารอง

อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษา ค้นคว้า วิจัย นับแต่อดีตถึงปัจจุบันที่มีการศึกษาในประเด็นต่างๆ เพื่อหาปัจจัยที่จะช่วยทำให้แม่โคมีการผสมติดที่สูงขึ้น ล้วนมีข้อสรุปร่วมที่พ้องต้องกันคือ การที่แม่โคผสมไม่ติดสาเหตุหลักเกิดจากแม่โคไม่ได้รับการผสมเทียมในเวลาที่เหมาะสม เวลาที่เหมาะสมในการผสมพันธุ์คือ การทำให้ไข่ (Ova) และตัวอสุจิ (Sperm) มาพบกันและเกิดการปฏิสนธิ (Fertilization) ณ ท่อนำไข่ (Ampullo-isthus Junction of Oviduct) ปัจจัยนี้เป็นหัวใจของความสำเร็จอันดับแรกของการผสมเทียมโคให้ผสมติดตั้งท้อง โดยงานศึกษาวิจัยจากอดีตถึงปัจจุบัน ยังคงสนับสนุนทางทฤษฎีการผสมเทียมที่ว่า เวลาที่อัตราการผสมติดสูงสุดคือ ทำการผสมที่ประมาณ 12 ชั่วโมง หลังจากแม่โคเริ่มเป็นสัด (ยืนนิ่ง) ด้วยอายุของไข่ที่ยังคงความสมบูรณ์อยู่ประมาณ 8 ถึง 12 ชั่วโมง หลังจากตกออกจากรังไข่ไปรอตัวอสุจิอยู่ที่ท่อนำไข่ (ไข่ตกหลังสิ้นสุดการเป็นสัดประมาณ 12 ชั่วโมง) และตัวอสุจิมีชีวิตและยังแข็งแรงอยู่ หลังการละลายและเข้าสู่ทางเดินสืบพันธุ์แม่โคประมาณ 12 ถึง 30 ชั่วโมง โดยการเดินทางในมดลูกจะมีกระบวนการเปลี่ยนแปลงส่วนหัวของตัวอสุจิ (Capacitation) ให้พร้อมในการผสม (พร้อมที่จะเจาะผ่านผนังหุ้มไข่ Zona Penllucida) ซึ่งใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง ดังนั้น กฎการผสมเช้า-บ่าย (AM-PM) ยังเป็นกฎสากลที่เป็นจริงที่ทำให้เกิดการผสมติดสูงสุด โดยทั้งนี้อัตราการผสมติดสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 50 ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ (ผสมเทียม 100 ครั้ง แม่โคติดตั้งท้องได้ 50 ถึง 70 ตัว) ทั้งนี้ขึ้นกับความพร้อมในส่วนอื่นๆ ด้วย เช่น ความสมบูรณ์แม่โคที่พอดี การได้รับอาหารที่เหมาะสมสมดุลดี มีผลกระทบจากความเครียด จากความร้อนชื้น หรือความเครียดจากการจัดการฟาร์มอื่นๆ น้อย มีปัญหาโรคทางการสืบพันธุ์ในฝูงหรือในพื้นที่น้อย เมื่อปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ มีน้อยจะทำให้อัตราผสมติดในฝูงดีกว่าฟาร์มที่มีปัญหาการจัดการที่กล่าวมา ตัวเลขอัตราการผสมติดที่ 50 ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ นี้เป็นตัวเลขที่เป็นจริงในโคนมทั่วโลก ทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาและในประเทศไทย ไม่มีที่ใดทำการผสมเทียมโคนมแล้วติดตั้งได้ 100 เปอร์เซ็นต์ อันนี้เป็นความเป็นจริงที่เจ้าของฟาร์มต้องยอมรับและต้องพยายามจัดการฟาร์มให้เกิดการผสมติดมากที่สุด (70 เปอร์เซ็นต์) และต้องไม่ทำให้ผสมติดต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ในฝูง ข้อมูลงานบริการผสมเทียมของ อ.ส.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ –มิถุนายน 2544 พบว่าอัตราผสมติดในแม่โค 56.2% และในโคสาว 62.0% (สุณีรัตน์ และคณะ, 2545)

จากผลการศึกษาโดยเฉพาะในระดับฟาร์มพบว่าสาเหตุหลักที่ทำให้อัตราผสมติดต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานในพื้นที่นั้นมักเกิดจาก 1) เกษตรกรจับสัดไม่ดีพอ โดยพบว่าส่วนใหญ่จับสัดได้ช้าไป 4 ถึง 5 ชั่วโมง จากที่โคเริ่มเป็นสัด 2) มีปัญหาของผู้ทำการผสมเทียม ในเทคนิคการเตรียมน้ำเชื้อแช่แข็ง การละลาย การบรรจุปืนผสมเทียม ตลอดจนความสะอาดในขั้นตอนและเทคนิคการผสมเทียม 3) ความสมบูรณ์และสุขภาพของแม่โคโดยมีปัจจัยหลัก คือ อาหาร แร่ธารตุ วิตามินที่เหมาะสมเพียงพอ พืชอาหารหยาบที่เป็นหญ้าเขียว จะเป็นหัวใจที่ดีที่สุดที่จะช่วยโคให้สมบูรณ์ โดยไม่มีปัญหาสุขภาพและความสมบูรณ์พันธุ์อันเนื่องจากอาหาร

 

ข้อจำกัดของฟาร์มโคนมไทย

ในพื้นที่เลี้ยงโคนมส่วนใหญ่ขาดพืชอาหารหยาบที่มีคุณภาพหรือไม่พยายามจัดหาพืชอาหารหยาบให้โคโดยเกษตรกรส่วนใหญ่มักกล่าวว่าไม่สามารถหาหญ้าให้โคได้ทั้งที่ทุกคนยอมรับและทราบดีว่านี้คือแหล่งอาหารที่ดีและวิเศษที่สุดของโคที่ทำให้โคมีสุขภาพดีผสมติดง่ายขึ้นคุณภาพและองค์ประกอบน้ำนมดีจากรายงานการสำรวจสถานภาพและปัญหาระบบสืบพันธุ์ในโคนม จากปศุสัตว์เขต 1 2 4 6 7 และ 8 ซึ่งเป็นงานบริการผสมเทียมของกรมปศุสัตว์ในช่วงปี 2542 พบว่าอายุเฉลี่ยโคสาวที่ผสมติด 31.9 เดือน อัตราผสมติดในโคสาว 23.0 ถึง 61.5% อัตราผสมติดของแม่โค 37.4 ถึง 45.5% แม่โคหลังคลอดมีปัญหาการผสมติดตั้งท้องช้าโดยมีวันท้องว่างเฉลี่ย 183.3 วัน (ปราจีน และคณะ, 2544) จะเห็นว่าข้อมูลการผลิตด้านความสมบูรณ์พันธุ์ของโคนมอยู่ในเกณฑ์ที่ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนในการผลิตที่สูงมากนับแต่ในการผลิตโคสาวแสดงถึงการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ที่ช้ามาก สะท้อนว่ายังมีเกษตรกร อีกจำนวนมากที่ไม่ให้ความสนใจดูแลโคเล็ก โครุ่น โคสาว ให้มีการเจริญเติบโตตามเกณฑ์ที่ควรเป็นในสภาพเลี้ยงเมืองไทย ซึ่งในฟาร์มที่ให้การเลี้ยงดูที่ดี ในโคสาวสามารถผสมพันธุ์ได้ที่อายุ 14 ถึง 16 เดือน โดยมีน้ำหนักตัวประมาณ 280 ถึง 300 กิโลกรัม และไม่มีปัญหาการคลอดยาก ได้น้ำนมตามศักยภาพ กรรมพันธุ์และอาหารที่ฟาร์มจัดการให้ ส่วนวันท้องว่างในแม่โคหลังคลอดที่ห่างมากก็เป็นจุดสูญเสียที่สำคัญ สาเหตุมักมาจากแม่โคไม่มีความสมดุลของอาหารในระยะพักท้องรอคลอด หรือขณะคลอดไม่สะอาด อาจมีปัญหารกค้างมีการติดเชื้อหลังคลอด เป็นผลให้การเป็นสัดช้าหลังคลอด ประกอบกับผสมหลายครั้งจึงติด ทำให้โคท้องว่างนานทำให้แม่โคเหล่านั้นถูกรีดนมนานกว่า 305 วัน ส่งผลให้องค์ประกอบน้ำนมในโคที่รีดนมนานไม่ดีและมีระดับโซมาติกเซลล์สูงมีผลต่อคุณภาพน้ำนมของฟาร์ม อาจกล่าวโดยสรุปถึงสาเหตุของการผสมไม่ติดในแม่โคหลังคลอดได้ดังนี้

1) การเตรียมคลอดไม่ดีพอ โดยเฉพาะความสมดุลของอาหารในระยะก่อนคลอด เช่น เลี้ยงแม่โคด้วยอาหารสูตรเดียวกันทั้งฟาร์ม บางพื้นที่เลี้ยงโคอ้วนมาก ส่งผลให้มีปัญหาสุขภาพหลังคลอด เช่น ไข้น้ำนม คีโทซิส แม่โคไม่เป็นสัดหลังคลอด แม่โคเป็นถุงน้ำในรังไข่

2) การจัดการในขณะคลอดไม่สะดวก ทำให้มีการติดเชื้อเข้าช่องคลอด มดลูกอักเสบ รกค้าง มีผลให้การเป็นสัดและการผสมหลังคลอดล่าช้าออกไป และต้องผสมหลายครั้งเพราะอาจมีปัญหามดลูกอักเสบแบบไม่ชัดเจนแฝงอยู่

3) การกินอาหารได้ในระยะหลังคลอด ยังทำให้มีปัญหาอาหารพลังงานไม่สมดุล โคต้องใช้ไขมันที่สะสมในร่างกายออกมาใช้เกิดปัญหาคีโทซิส ในฟาร์มที่มีการให้อาหารข้นมากโดยไม่พยายามหาอาหารหยาบคุณภาพดี เช่น หญ้าหรือข้าวโพดให้แม่โคในสัดส่วนเหมาะสมระหว่างอาหารข้นและหยาบจะส่งผลให้เกิดปัญหาความเป็นกรดในกระเพาะที่ทำให้มีปัญหาสารพิษเอนโดทอกซินจากผนังเซลล์ แบคทีเรียกลุ่มติดสีแดงที่ตายในสภาวะเป็นกรดในกระเพาะซึ่งมีผลให้ตัวอ่อนตายได้แม่โคกลับเป็นสัดเป็นปัญหาโคผสมไม่ติด การเป็นกรดในกระเพาะทำให้แม่โคมีปัญหากีบอักเสบ กีบยาว ซึ่งมีผลต่อการเป็นสัดและการผสมติดด้วย นอกจากนี้อาจพบปัญหากระเพาะแท้เคลื่อน ซึ่งหากแก้ไขไม่ทันทำให้แม่โคถึงตายได้

4) นอกจากนี้ในฟาร์มที่ให้อาหารข้นที่มีโปรตีนสูงโดยเฉพาะโปรตีนกลุ่ม NPNเช่น โปรตีนจากปุ๋ยยูเรีย มีผลให้ยูเรียในกระแสเลือด (BUN) สูง ในมดลูกมีสภาพเป็นกรดมากขึ้นมีผลให้ตัวอ่อนตายได้เช่นกัน 5. ในสภาวะเมืองร้อนชื้นเช่นประเทศไทย ปัญหาความเครียดจากความร้อนชื้นมีผลให้การผสมติดต่ำได้เช่นกัน

6) นอกจากนี้ปัญหาโรคทางการสืบพันธุ์ที่มีรายงานพบหลายโรคในประเทศไทย ล้วนมีผลต่อการผสมติด การแท้งได้ ทั้งหลายเหล่านี้มีผลการศึกษาวิจัยกล่าวไว้ในต่างประเทศและในประเทศไทย ที่มีสนับสนุนยืนยันในสิ่งที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

 

เกษตรกรถามว่า แล้วผมจะทำอย่างไรครับคุณหมอ เพื่อให้ผสมติดดีขึ้น ทำอย่างไรดีค่ะ พยายามทำ (ต้องทำ) ดังต่อไปนี้นะคะ

1) เลี้ยงโคด้วยอาหารหยาบคุณภาพ หญ้าเขียว ข้าวโพด เสริมอาหารข้นไม่ใช้อาหารข้นเป็นหลักหรือให้อาหารในรูป TMR (หยาบรวมข้นกินพร้อมกัน) เพื่อลดการเป็นกรดในกระเพาะ ลดการตายตัวอ่อน

2) ปรับสูตรอาหารแม่โคระยะรอคลอดให้แคลเซียมต่ำกว่าแม่โครีดนม เพื่อลดปัญหาไข้น้ำนมอันจะนำไปสู่ปัญหารกค้าง มดลูกอักเสบ ผสมติดยากตามมา

3) อาหารช่วงหลังคลอด ควรจัดให้มีพลังงานสูงเป็นอาหารหยาบ เช่น ข้างโพดหมัก เหมาะสมมากในระยะนี้

4) ให้แม่โคมีระยะพักรีดนมอย่างน้อย 2 เดือน อย่าให้โคอ้วนโดยในช่วงโครอคลอดไม่ควรมีคะแนนความสมบูรณ์ร่างกายเกิน 4 และอย่าให้โคผอม คะแนนความสมบูรณ์ร่างกายโคไม่ควรต่ำกว่า 3.5 เพื่อลดปัญหาพลังงานไม่สมดุลหลังคลอด อันนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพอื่นๆ เช่น คีโทซิส กระเพาะแท้เคลื่อน เต้านมอักเสบ มดลูกอักเสบ ถุงน้ำในรังไข่ผสมติดยาก

5) เกษตรกรต้องทำการตรวจจับสัดให้อย่างน้อยวันละ 4 ครั้ง โดยในแต่ละครั้งให้เฝ้าดูนานอย่างน้อย 20 นาที เพื่อให้ผสมเทียมได้ในเวลาที่ถูกต้อง แม่โคแสดงอาการเป็นสัดดีในช่วงอากาศเย็นสบาย ไม่มีสิ่งรบกวนให้ใช้ข้อมูลประจำตัวโครายตัวช่วยเตือนความจำ ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการจับสัด

6) เจ้าหน้าที่ผสมเทียมต้องให้ความสำคัญในทุกขั้นตอนของการเตรียมปืนผสมเทียม การละลายน้ำเชื้อแช่แข็ง เทคนิคการผสมเทียมที่สะอาด ลดการปนเปื้อนในทุกขั้นตอนในพื้นที่มีรายงานการพบเชื้อยูเรียให้นำถุงอนามัย (Sanitary Sheath) มาหุ้มปืนผสมเทียมเสริมในเทคนิคการผสมเทียม

7) มีระบบข้อมูลฟาร์มทั้งในระดับเกษตรกรเจ้าของฟาร์ม และระดับเจ้าหน้าที่ผสมเทียม เพื่อช่วยในการจับสัด การตรวจการกลับสัด (Non Return) และการตรวจท้องหลังผสม ลงวันกำหนดคลอด และเตรียมแม่โคไม่ให้อ้วนหรือผอมเกินไป

8) มีระบบข้อมูลและมีการประเมินประสิทธิภาพการผสมพันธุ์ของแม่โค ประสิทธิภาพการจับสัดของเจ้าของโค และประสิทธิภาพการผสมเทียมของเจ้าหน้าที่ผสมเทียม เพื่อการแก้ไขปัญหาได้ตรงกับสาเหตุ

9) ทำการล้วงตรวจโคหลังคลอดที่ไม่แสดงการเป็นสัดภายใน 45 ถึง 60 วัน เพื่อการแก้ไขรักษาได้ทันกับอาการของโรค หรือปัญหาที่เกิดในแม่โคแต่ละตัว

10) ดูแลการถ่ายพยาธิ อาหาร สุขภาพในโคเล็ก โครุ่น โคสาว เพื่อให้เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ได้ตามเกณฑ์ที่ควรเป็น11) เกษตรกรต้องจัดการฟาร์มและสิ่งแวดล้อมในฟาร์มเพื่อลดความเครียดต่อโคให้มากที่สุดเช่นลดความเครียดจากความร้อนโดยจัดให้มีร่มเงาในคอกพักโคมีต้นไม้หรือโรงเรือนสูงโปร่งคอกพักต้องไม่เป็นแอ่งโคลนตมให้โคลงนอนแช่ด้วยเพิ่มโอกาสติดเชื้อเข้าสู่ช่องคลอดทำให้มดลูกอักเสบตามมามีน้ำสะอาดใหม่และเย็นให้โคกินตลอดเวลาอ่างน้ำกินต้องไม่ตั้งกลางแดดให้เปลี่ยนน้ำทุกวันและการจัดการอื่นๆทุกวิถีทางเพื่อทำให้โคมีความเครียดน้อยที่สุด

  • มีการปาดแต่งกีบเป็นประจำ และลดการเกิดปัญหากีบเจ็บกีบอักเสบ ด้วยมีผลต่อการเป็นสัดของแม่โค ทำให้ไม่ยืนนิ่งนาน หรือโคชอบลงนอนมากกว่ามีผลทำให้พลาดการจับสัดในเวลาเหมาะสมได้
  • ในพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ผสมเทียมไม่เพียงพอสหกรณ์โคนม ต้องจัดการให้มีเจ้าหน้าที่ผสมเทียมที่มีคุณภาพและมีจำนวนเพียงพอ
  • การนำฮอร์โมนมาช่วยแก้ปัญหาการผสมติดยาก หรือช่วยเพื่อประสิทธิภาพการผสมติด สามารถทำได้ขึ้นกับความพร้อมความเหมาะสมและความคุ้มทุนของฟาร์ม การฉีดวิตามินยาบำรุงก่อนและหลังคลอดเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ ทางที่ดีที่สุดคือ การหาอาหารที่ดี มีคุณภาพคือหญ้าคุณภาพอย่างเพียงพอ จะช่วยลดปัญหาที่กล่าวมาได้ดีที่สุด
  • โรคทางการสืบพันธุ์ที่ติดต่อได้และมีผลต่อการตายของตัวอ่อนและการแท้ง ต้องเป็นเรื่องที่เกษตรกรต้องให้ความสำคัญในการควบคุมป้องกันและกำจัดโรคร่วมกับหน่วยงานรัฐที่รองรับการตรวจวินิจฉัย การทำลายโคเป็นโรค หรือการนำพิจารณาวัคซีนเข้ามาใช้ หน่วยงานผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งต้องให้ความสำคัญในการทำให้พ่อโคปลอดโรคที่ติดต่อได้ทางการสืบพันธุ์ และ(ที่สั่งซื้อน้ำเชื้อแช่แข็งและโคมีชีวิตเข้าประเทศต้องควบคุมความปลอดโรคเหล่านี้อย่างเข้มงวด

อย่างไรก็ตาม ปัญหาหลักๆ ในประเทศไทยที่พบโดยรวม คือ เจ้าหน้าที่ผสมเทียมไม่เพียงพอ เกษตรกรไม่จัดอาหารหยาบให้แม่โคอย่างเพียงพอและยังมีโรคทางการสืบพันธุ์ที่ยังไม่มีการจัดการอย่างจริงจัง จากประเด็นที่กล่าวข้างต้นคงมีโจทย์วิจัยให้นักวิจัยผู้สนใจงานด้านโคนมไปทำได้อีกนาน และที่สำคัญขอให้ผลการวิจัยถูกนำไปใช้ และช่วยลดปัญาให้เกษตรกรและเจ้าหน้าที่ผสมเทียมได้ด้วยก็จะเป็นการลงทุนที่มีค่าทั้งจากผู้ให้ทุนวิจัยและผู้ที่เสียเวลาทำการวิจัย