ที่มา: วารสารโคนม ปีที่ 25 ฉบับที่ 1
ผู้แต่ง: น.สพ.กฤช พจนอารี
ในฐานะเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม พวกเราทุกคนมีโอกาสเสี่ยงกับการเจออาการยูเรียเป็นพิษกันทุกคน ทำไมน่ะเหรอครับ ก็เพราะการใช้ยูเรียเป็นส่วนประกอบในอาหารนั้นเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไป แทบจะเรียกได้ว่า นอกจากสูตรของลูกโคแล้วทุกสูตรจะมียูเรียผสมอยู่หมด รวมไปถึงอาหารหยาบหมักอีกหลายชนิดด้วยที่มีการเติมยูเรียเข้าไปในส่วนประกอบ ไม่แปลกแล้วก็ไม่ผิดหรอกครับ เพราะจริงๆ แล้วยูเรียถึงเป็นอาหารโปรตีนที่ราคาถูกที่สุด เทียบกับหน่วยต่อหน่วยยังไงก็ถูกกว่า แล้วถ้าใช้ในปริมาณ สัดส่วน วิธีการที่ถูกต้องนี้ไม่มีผลเสียอะไรเลย แต่ถ้าผิดพลาดขึ้นมาส่วนใหญ่จะจบลงด้วยความเศร้าครับ ไม่ตายก็เลี้ยงไม่โตกันเลยทีเดียว
ที่เคยเกิดความผิดพลาดขึ้นมีหลายกรณีครับ เช่น เติมยูเรียเกินจากที่คำนวณหรือกำหนดไว้ เติมไม่เกินแต่ผสมไม่เข้ากัน ยูเรียกระจายตัวไม่สม่ำเสมอ เลยมีเยอะเป็นหย่อมๆ หรือยูเรียจับตัวเป็นก้อนเพราะถูกความชื้น เคยเจออยู่บ้านนึง รางอาหารเอียงไปด้านท้ายคอกแล้วใช้ยูเรียผสมกากน้ำตาลราดฟางให้กิน ปรากฏว่าวัวที่อยู่ท้ายคอกตาย วัวต้นคอกไม่เป็นอะไรเลย เพราะน้ำยูเรียไหลไปทางท้ายคอกหมด รายละเอียดในการใช้ยูเรียก็มีผลกับความปลอดภัยเหมือนกัน เช่น ต้องสัดส่วนพอเหมาะกับกำมะถันในสูตรอาหาร ต้องมีน้ำให้โคกินตลอดเวลา ต้องมีอาหารประเภทแป้ง พลังงานในสัดส่วนที่เหมาะสม ซึ่งเรื่องพวกนี้โดยทั่วไปจะไม่มีปัญหาเพราะคนคำนวณสูตรมักจะจัดเตรียมไว้ตามตำราว่าไว้อยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่ความผิดพลาดเกิดขึ้นเพราะบางวันทุกอย่างมันไม่ได้ถูกต้องตามกำหนด เช่น กำมะถันหมดก็คิดว่าคงไม่เป็นไร ไม่ต้องใส่ก็ได้ หรือมียูเรียเหลือเศษติดก้นถุงอยู่หน่อยเดียว เลยแถมใส่ไปให้มันหมดๆ จะได้เก็บกวาดบริเวณที่เก็บวัตถุดิบให้สะอาดเรียบร้อย
ไม่ว่าสาเหตุของการเป็นพิษจะมาจากอะไรหรือใครก็ตาม อาการที่เราจะเห็นได้ก็คือ วัวจะล้มตายในทันทีหลังกินอาหาร หรือบางตัวจะพยายามวิ่งมาที่อ่างน้ำเพื่อกินน้ำ แต่ตายระหว่างทางหรือตายหลังกินน้ำ นี่คือกรณีกินเยอะ ถ้ากินน้อยหน่อยก็จะเห็นว่ายืนสั่น ท้องอืด เดินเซ ซึม นอน แล้วแต่ระดับความรุนแรงครับ ตัวที่ไม่ตายในทันที ก็อาจจะค่อยๆ ซึมลงซึมลง แล้วตายหลังจากวันนั้น 2 ถึง 3 วัน หรือบางตัวนานเป็นสัปดาห์ การช่วยเหลือ สามารถทำได้ในกลุ่มที่อาการไม่รุนแรงเพราะในกลุ่มที่อาการรุนแรงช่วยยังไงก็ตายอยู่ดีปล่อยให้ตายเอง เอาเวลามาช่วยตัวที่มีโอกาสรอดดีกว่า วิธีช่วยก็มีตั้งแต่กรอกน้ำส้มสายชูตัวละ 1 ถึง 2 ลิตร เพื่อให้ไปสลายฤทธิ์ของยูเรีย ตามหลักที่ว่า กรด + ด่าง จะได้น้ำ + เกลือ เพราะยูเรียเมื่อย่อยสลายในกระเพาะรูเมน (กระเพาะหมัก) ของโคจะได้แอมโมเนียซึ่งเป็นด่างรุนแรง เมื่อเราให้กินน้ำส้มสายชูซึ่งเป็นกรด ด่างเจอกรดก็จะแตกตัวสลายกลายเป็น น้ำ + เกลือ ซึ่งไม่เป็นอันตรายกับโค บางคนอาจจะกังวลว่าถ้าให้กรดเยอะเกินไปจะเป็นอันตรายกับโค ก็อยากจะบอกว่าไม่ต้องห่วงครับ น้ำส้มสายชูเป็นกรดที่ไม่รุนแรง ไม่ระคายเคืองมากนัก อีกอย่างหนึ่งโคสามารถรับมือกับสภาวะความเป็นกรดในกระเพาะได้ดีครับมันสามารถจัดการทำลายสภาวะกรดได้โดยการเคี้ยวเอื้องเอาน้ำลายไปสลายกรดในกระเพาะได้ เราเองก็ช่วยได้อีกทางโดยให้โคกินอาหารหยาบคุณภาพดี อาหารหยาบจะมีฤทธิ์เป็นด่างครับ นอกจากการกรอกน้ำส้มสายชูแล้วที่ควรจะทำอีกก็คือ การให้น้ำเกลือเข้าเส้นเลือดเพื่อช่วยขับความเป็นด่างที่อยู่ในเลือดให้หมดไป เพราะในสภาพความจริงกว่าเราจะรู้ว่าวัวกินยูเรียเข้าไปแล้วเป็นพิษ กว่าจะหาน้ำส้มสายชูมากรอกได้ ความเป็นพิษก็ถูกดูดซึมเข้าเส้นเลือดไปแล้วหลายส่วน แนะนำอีกอย่างครับระหว่างที่ยังหาน้ำส้มสายชูไม่ได้ การช่วยเหลือเบื้องต้นที่ควรทำคือ เอาน้ำเย็นๆ กรอกให้โคกินไปก่อนจะช่วยประทังอาการ บรรเทาความรุนแรงได้ เพราะ 1) น้ำช่วยเจือจางความเป็นพิษ 2) ความเย็นของน้ำจะช่วยลดอัตราการแตกตัวของยูเรีย การดูดซึมของแอมโมเนีย 3) โครู้สึกสบายตัวขึ้น ไม่กระวนกระวายมาก
อาการเด่นและรุนแรงอีกอย่างที่พบประจำก็คือ ท้องอืดอย่างรวดเร็วและรุนแรง โคอาจจะตายจากท้องอืดได้ ทั้งๆ ที่ระดับความเป็นพิษไม่รุนแรงมากนัก เพราะฉะนั้นต้องช่วยระบายแก๊สออกจากกระเพาะหมัก ซึ่งผมเคยแนะนำวิธีการเจาะระบายแก๊สไปแล้ว ลองไปหาอ่านดูครับ เอาล่ะเมื่อผ่านช่วงเวลาวิกฤติไปได้ คะเนว่าโคตัวนี้น่าจะรอด เรื่องก็ยังไม่จบง่ายๆ หรอกครับ จะต้องให้ยาแก้ปวด แก้อักเสบในกระเพาะต่อ และที่ควรให้อีกอย่างก็คือ ยาเคลือบแผลในกระเพาะ เพราะโคที่กินยูเรียแล้วเป็นพิษ พวกนี้ถ้าผ่าซากดูตัวที่ตายไป จะพบว่าในหลอดอาหารกระเพาะหมักจะอักเสบรุนแรง เยื่อเมือกเป็นสีแดงเข้ม หลายตัวพบว่าผิวด้านในของกระเพาะหมักที่เป็นเหมือนขนสั้นๆ ที่เรียกผ้าขี้ริ้วนั้น ลอกออกได้อย่างง่ายดาย เปื่อยยุ่ยใต้ผิวด้านในที่ลอกออกจะพบจุดเลือดออกที่ผิวของกระเพาะขึ้นลึก เป็นลักษณะพิเศษที่พบได้ในกรณีนี้โดยเฉพาะ นอกจากนั้นที่หลอดลม ปอด ก็จะพบการอักเสบที่รุนแรงเช่นกัน จะพบเยื่อเมือกเป็นสีแดงคล้ำจนถึงขั้นมีจุดเลือดออกให้เห็นปอดจะบวมน้ำรุนแรง คือเมื่อฝานเนื้อปอดทุกก้อน
เรื่องที่น่าเจ็บใจก็คือ ต่อให้เห็นอาการชัดผ่าซากดูพบอาการของโรคชัด ยืนยันได้ 99% ว่าเป็นผลมาจากยูเรียเป็นพิษ แต่มักจะสาวไปถึงต้นตอยากโดยเฉพาะถ้าจะหาหลักฐานไปฟ้องศาลกันทำยากมากครับ เพราะ
- ยูเรียในตัวโค ไม่สามารถตรวจได้ เพราะมันสลายตัวเป็นแอมโมเนียไปหมด ยิ่งเมื่อเปิดผ่ากระเพาะแอมโมเนียก็ระเหยหายไปในอากาศหมด เพราะฉะนั้นจับตัวจำเลยไม่ได้จะๆซักที
- การจะเอาอาหารที่เหลืออยู่ไปตรวจว่ามียูเรียสูงกว่าค่ามาตรฐาน ก็มักจะไม่พบเพราะอาหารส่วนที่เราเก็บไปตรวจอาจไม่มียูเรียอยู่เลยหรือมีน้อย เพราะยูเรียกระจายตัวไม่ดี ส่วนที่มียูเรียเยอะอยู่ในท้องวัวไปแล้ว ส่วนที่เหลืออยู่ก็เลยเป็นอาหารปกติไปซะงั้น
- การตรวจอาหารโดยห้องตรวจโดยทั่วไปไม่สามารถตรวจยูเรียโดยตรงได้ เขาจะตรวจโปรตีน ไขมัน แป้ง ฯลฯ ถ้าจะตรวจยูเรียนโดยตรง ถึงทำได้ก็คงจะต้องเสียเวลาค่าใช้จ่ายมหาศาล ไม่รู้ผลที่จะได้ออกมาจะคุ้มกับการลงทุนรึเปล่า
รู้แบบนี้แล้ว ป้องกันน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดเพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องมานั่งปวดหัวปวดใจกันภายหลัง ส่วนวิธีการป้องกันที่แต่ละคนจะเลือกนั้น คงต้องไปคิดกันเอาเอง หรือบางคนอาจจะปลงแล้ว บอกทำยังไงได้ต้องกินอาหารที่เขาผสมมาขายอยู่ดีผสมเองก็ไม่ไหว อะไรมันจะเกิดก็ต้องเกิดห้ามกันไม่ได้ ถ้าคิดได้อย่างนั้นมันก็ดีครับ เพราะจริงๆ แล้ว ถึงจะป้องกันดีแค่ไหนก็ไม่มีทางป้องกันได้ 100% หรอกครับ ทางที่ดี ตุนน้ำส้มสายชูไว้เยอะๆ หน่อยก็แล้วกัน เพราะถึงไม่ได้ใช้กับโคก็ใช้ทำกับข้าว ใส่ก่วยเตี๋ยวทานได้อยู่แล้ว