การพิสูจน์พ่อพันธุ์โคนม
ผู้เขียน: น.สพ.กฤช พจนอารี
ศัพท์คำว่า “การพิสูจน์พ่อพันธุ์” อาจจะยังใหม่สำหรับหลายคนอยู่บ้าง เลยจะขออธิบายศัพท์คำนี้ให้เข้าใจตรงกันเสียก่อน การพิสูจน์พ่อพันธุ์นั้นหมายถึงการยืนยันผลการทดสอบความสามารถของพ่อพันธุ์ ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดในการจะได้ผลการทดสอบที่ถูกต้อง,แน่นอนนั้น ก็คือการดูความสามารถของลูกสาวของพ่อพันธุ์ตัวนั้นๆ ทำไมนะหรือครับหลายคนสงสัยว่าทดสอบความสามารถของพ่อพันธุ์ทำไมไม่ดูที่ตัวพ่อพันธุ์เอง ทำไมไปดูที่ลูกสาวของพ่อพันธุ์ คำตอบก็คือ ในโคนมเราเน้นดูปริมาณน้ำนมเป็นหลัก แล้วพ่อพันธุ์ก็ไม่มีเต้านมจะให้เรารีดนมมาวัดกันนี่ครับ ก็เลยต้องไปรอดูเอาในลูกสาวของพ่อพันธุ์ตัวนั้นแทน จริงๆ ถ้าจะดูแค่คร่าวๆ ก็ดูได้จากพี่น้องท้องเดียวกัน (พ่อเดียวกัน แม่เดียวกัน) กับพ่อพันธุ์นี้ก็ได้ แต่อย่างว่าแหละครับมันไม่แน่นอนเท่ากับดูที่ลูกสาวของพ่อพันธุ์เอง อีกอย่างพี่น้องประเภทที่พ่อเดียวกัน แม่เดียวกัน ก็หายากในสภาพความเป็นจริงเพราะเกษตรกรมักจะเปลี่ยนใช้พ่อพันธุ์ตัวใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆในแม่พันธุ์ตัวเดิมไม่ค่อยใช้
ทีนี้บางคนก็แย้งอีกว่า การดูที่ลูกสาวก็อาจจะได้ผลการทดสอบนี้ไม่แน่นอนอีกก็ได้ เนื่องจากลูกสาวนั้นอาจได้รับความดี ความสามารถจากแม่พันธุ์ด้วย ไม่ได้ดีมาจากเลือดพ่ออย่างเดียว อันนี้ก็จริงครับ แต่ในขบวนการวิเคราะห์ผลนั้น เขาป้องกันเอาไว้แล้วครับ ผลการทดสอบที่เชื่อถือได้นั้นจะต้องเป็นผลที่ได้มาจากลูกสาวที่เกิดจากแม่พันธุ์ต่างระดับกัน มีตั้งแต่แม่ชั้นยอด จนถึงแม่ชั้นแย่จากฟาร์มเกรด A จนถึงฟาร์ม เกรด Z จากภูมิประเทศชุ่มฉ่ำจนถึงแห้งผาก สรุปว่าต้องเอาข้อมูลมาเยอะๆ ต่างๆ กัน ทั้งการรีด การเลี้ยง และสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ บวก ลบ คูณ หาร ออกมาจนได้เป็นค่าเฉลี่ยของผลผลิต ค่อยเอามาสรุปเป็นตัวๆ ไปเพราะฉะนั้นเรื่องอิทธิพลที่จะมาจากแม่จึงมีน้อยมาก จนนับค่าไม่ได้ นักวิชาการจะตัดประเด็นนี้ทิ้งไป
ฟังดูก็น่าจะง่ายนะครับ เริ่มทำวันนี้ วันมะรืนก็น่าจะเสร็จ แต่จริงๆแล้วขั้นตอน วิธีการ ขบวนการ ยังอีกยาวครับ ผมจะค่อยๆ ขยายให้ฟัง เริ่มต้นที่ระยะเวลาก่อน คิดดูง่ายๆนะครับว่าถ้าเราต้องการจะพิสูจน์พ่อพันธุ์ซักตัวนึง ยกตัวอย่างเช่น เจ้าพอน (เบอร์ 9113) ถ้าเริ่มใช้น้ำเชื้อไปผสมกับแม่โคในวันนี้ รอให้แม่โคตัวนี้ตั้งท้อง ก็ 9 เดือนเข้าไปแล้ว คลอดลูกออกมาเป็นตัวเมีย เลี้ยงไปจนเป็นโคสาวก็อีก 2 ปี ผสมเทียมแล้วท้องอีก 9 เดือน คลอดลูกแล้วถึงจะเริ่มรีดนม ตามเก็บข้อมูลการให้น้ำนมอีก 1ปี ถึงจะได้ข้อมูลมาเข้าขบวนการคำนวณของนักวิชามาร เอ๊ย!วิชาการรวมเบ็ดเสร็จก็ 5 ปี แล้วถ้าเกิดโคสาว โตช้าผสมได้ช้ากว่านี้แทนที่จะเป็น 2 ปีกลายเป็น 3 ปี เวลาที่จะพิสูจน์พ่อพันธุ์ได้กลายเป็น 6 ปี เป็นไงครับ นานมั๊ย แต่ก็คุ้มค่าแก่การรอคอยนะครับ ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้
ทีนี้เกิดไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ล่ะอะไรจะเกิดขึ้นเกิดใช้น้ำเชื้อเจ้าพอน(เบอร์ 9113) ไปซัก 3,000 หลอด มีลูกสาวออกมาซัก 1,000ตัวกระจายไปทั่วประเทศ รอจนโตเป็นสาวผสมแล้วท้องจนคลอดมาแล้ว ปรากฏว่าใน 1,000 ตัวนี้ เกษตรกรเจ้าของไม่ยอมจดผลผลิตน้ำนมเลย หรือจดกัน 10-20 ตัว การรอคอย 5 ปีหรือ 6 ปีก็สูญเปล่า เพราะข้อมูลแค่ 10-20 ตัวไม่พอจะพิสูจน์ตัวพ่อพันธุ์ได้หรอกว่าดีจริงหรือเปล่า จะโมเมว่าดีจากข้อมูลที่มีอยู่น้อยนิดนี้ก็น่าเกลียด ที่ทำได้ก็คือรอไปอีกปีก็จะมีลูกสาวของเจ้าพอนที่โตตามๆพี่ของมันออกมาอีก มาคลอดลูกแล้วเจ้าของจดผลิตน้ำนม ก็จะเอาข้อมูลใหม่มารวมกับของเก่าจนได้มากพอ(ประมาณ 100 ตัว) ก็จะสรุปผลการพิสูจน์ออกมาได้ว่าพ่อพันธุ์ชื่อพอนนี้ดีจริงหรือไม่ ถ้าดีจริงก็จะได้แนะนำให้เกษตรกรใช้ผสมเทียมในฝูงโคนมต่อไป ถ้าไม่ดีจริงก็จะได้คัดทิ้ง เอาตัวใหม่มาทดสอบแทนต่อไป
ในปีหนึ่งๆก็จะมีโคพ่อพันธุ์เข้ารับการพิสูจน์ประมาณ 10 ตัว ตัวที่จะผ่านเกณฑ์ไปเป็นพ่อพันธุ์ชั้นดีที่ อ.ส.ค. ยอมรับจะมีไม่เกิน 3 ตัวเท่านั้น ที่เหลือถูกไล่ให้ไปเกิดใหม่ ยกตัวอย่างของจริงให้ดูบ้าง อย่างปี 2540 นี้ทาง อ.ส.ค. ได้ร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดทำ “ค่าการผสมพันธุ์โคนม 2540”ขึ้น ซึ่งเป็นหนังสือที่สรุปผลการพิสูจน์พ่อพันธุ์ในประเทศไทยในเขตที่ อ.ส.ค. มีข้อมูลอยู่ ผลปรากฎว่าในกลุ่มโคพ่อพันธุ์ของ อ.ส.ค. มี 5 ตัวที่ข้อมูลมากพอจะบอกได้ว่าพ่อพันธุ์ดีหรือไม่ดี (หรือที่เรียกเป็นทางการว่า ค่าความแน่นอนในการถ่ายทอดคุณสมบัติไปยังลูกสาวมากกว่า 50%) นั้นมีเจ้า First (เฟิร์ส เบอร์ 2216) เพียงตัวเดียวที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานให้มาเป็นพ่อพันธุ์ที่ดีได้ (ดูตารางประกอบ)
ชื่อ |
หมายเลข |
ปริมาณน้ำนม 305 วัน |
ค่าความแน่นอนในการถ่ายทอดคุณสมบัติไปยังลูกสาว |
เฟิร์ส โฟกัส เฟรซ ฟรัง ฟาโรห์ |
2216 2197 2188 2184 2177 |
+ 116.51 กก. -119.92 กก. -204.53 กก. -594.25 กก. -737.36 กก. |
76.6% 76.2% 91.7% 77.6% 53.1% |
* ค่า + หรือ - ที่เห็นในตารางนั้นหมายถึงว่ามากกว่าหรือน้อยกว่าค่าเฉลี่ยไปกี่ กก. เช่น First มีค่า +116.51 กก. ก็คือลูกสาวของ First ให้น้ำนมได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของปี 2540 ไปอีก 116.51 กก.ซึ่งค่าเฉลี่ยในปี 2540 นี้คือ 3,636 กก. สรุปได้ว่าโดยเฉลี่ยลูกสาวของ Firstจะให้น้ำนมได้ประมาณ 3,752 กก. ต่อการรีดน้ำนม 305 วัน (10 เดือน) โดยในลูกสาว 100 ตัว จะมีลูกสาวที่เป็นแบบนี้ประมาณ 77 ตัว ที่เหลือยังไม่ทราบแน่นอน เพราะเรายังมีข้อมูลไม่มากพอ ถ้ามีข้อมูลมากกว่านี้อาจจะมีความแน่นอนถึง 100% ก็ได้ ซึ่งจะเกิดแบบนั้นได้ก็ต้องได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรเจ้าของโคทุกท่าน ที่จะต้องช่วยกันจดบันทึกผลผลิตน้ำนมโครายตัว จดทุกวันได้เป็นดีที่สุด แต่ถ้าคิดว่ามันหนักเกินไปจดทุกวันไม่ไหว สัปดาห์ละครั้งก็ยังดี สัปดาห์ละครั้งว่ามากไปอีก ขอเป็นเดือนละครั้งก็ยังพอยอมรับได้ แต่น้อยกว่านี้ไม่ไหวนะครับ นักวิชาการรับไม่ได้จริงๆ
ที่เล่ามาซะยาวยืดนี้ เพิ่มเริ่มนะครับเพราะเอาแค่ผลผลิตนมอย่างเดียว ถ้าแบบเต็มยศล่ะก็จะต้องมีการให้คะแนนรูปร่าง ลักษณะ ความเป็นโคนม การคลอดง่าย การรีดนมง่าย นิสัย ฯลฯ ซึ่งต่อไปก็จะต้องทำเหมือนกัน แต่ผมว่าเอาขั้นแรกให้สมบูรณ์ก่อนแล้วค่อยไปต่อดีกว่านะครับยังไงๆก็อย่าลืมช่วยกันจดบันทึกข้อมูลการให้นมของแม่โคทุกตัวในฟาร์มล่ะครับ เราจะได้มีข้อมูลมาทำการพิสูจน์พ่อพันธุ์กันให้ต่างชาติตะลึง ทึ่งในฝีมือเกษตรกรไทยไปไหนมาไหนก็จะได้คุยอวดกับเขาได้ว่าเราก็มีการพิสูจน์พ่อพันธุ์เหมือนกันนะ…จะบอกให้