การปรับปรุงพันธุ์และการเลือกใช้น้ำเชื้อพ่อพันธุ์โคนม (ตอนที่ 5)

ผู้เขียน: ผศ.ดร. ศกร คุณวุฒิฤทธิรณ 

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการพิจารณาเลือกใช้น้ำเชื้อพ่อพันธุ์โคนมเพื่อการผสมเทียม

1. การปรับปรุงพันธุ์ ไม่ใช่ เป็นการกระทำเพียงเพื่อให้สัตว์เพศเมียเกิดการผสมติดและคลอดลูกออกมามีชีวิต แต่การปรับปรุงพันธุ์นั้นหวังผลให้สัตว์รุ่นลูกมีค่าเฉลี่ยในการแสดงลักษณะที่สนใจดีกว่าสัตว์รุ่นพ่อแม่

2. การพิจารณาเปรียบเทียบข้อมูลทางพันธุกรรมของพ่อพันธุ์ที่ปรากฏอยู่ในแคตตาล็อกต่างๆ ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบข้ามปี (ปีของการประเมิน) หรือข้ามหน่วยงานหรือบริษัทได้ ทั้งนี้เนื่องมาจาก ค่าความสามารถทางพันธุกรรมของพ่อพันธุ์ที่ปรากฏในแคต ตาล็อกแต่ละเล่มของแต่ละองค์กรหรือหน่วยงานนั้นมาจาก “ชุดข้อมูล หรือ ประชากรโคนมที่มีโครงสร้างทางพันธุกรรมและการจัดการแตกต่างกัน” และในบางครั้งได้มาจาก “พื้นฐานของการคำนวณค่าที่แตกต่างกัน” การนำค่าที่ประมาณค่าได้ของพ่อพันธุ์โคนมเหล่านั้นมาเปรียบเทียบกันจะทำให้เกิดความลำเอียง และอาจส่งผลให้การความแม่นยำในการตัดสินใจคัดเลือกลดลง

3. น้ำเชื้อพ่อพันธุ์ต่างประเทศที่มีราคาแพง ไม่ได้บ่งบอกถึง การได้มาซึ่งสัตว์รุ่นลูกที่มีความสามารถดีเด่นสมราคาเมื่อนำมาใช้จริงภายในสภาพแวดล้อมของประเทศไทย พ่อพันธุ์ต่างประเทศไม่ทุกตัวที่มีความสามารถทางพันธุกรรมดีกว่าพ่อพันธุ์ที่ผลิตได้ในประเทศไทย เกษตรกร “ควรพิจารณาคัดเลือกพ่อพันธุ์โคนมจากความสามารถทางพันธุกรรม ดีกว่าพิจารณาคัดเลือกพ่อพันธุ์โคนมจากแหล่งที่มาทางพันธุกรรม

ภาพที่ 7 ความสามารถทางพันธุกรรมของโคนมที่มาจากแหล่งพันธุกรรมแตกต่างกัน

4. “พ่อพันธุ์พันธุ์แท้ไม่ทุกตัวที่ดีกว่าพ่อพันธุ์ลูกผสม” ดังนั้น การเลือกใช้พ่อพันธุ์ไม่จำเป็นต้องเลือกใช้แต่พ่อพันธุ์พันธุ์แท้ทุกครั้งเสมอไป เกษตรกรควรพิจารณาที่ความสามารถทางพันธุกรรมของพ่อพันธุ์ที่สนใจว่ามีค่ามากหรือน้อย

ภาพที่ 8 ความสามารถทางพันธุกรรมของพ่อพันธุ์โคนมที่มีระดับสายเลือดโฮลสไตน์ (ขาว-ดำ) แตกต่างกัน

5. พันธุ์ สายพันธุ์ ลูกผสม ระดับสายเลือด มีค่าทางเศรษฐกิจน้อยกว่า “ความสามารถทางพันธุกรรมของสัตว์แต่ละตัว” ดังนั้น การพิจารณาเลือกใช้น้ำเชื้อพันธุ์หรือคัดเลือกโคนมเกษตรกรจำเป็นต้องพิจารณาข้อมูลความสามารถของสัตว์ตัวนั้นๆ มากกว่า เพราะถึงแม่ว่าจะเป็นพ่อที่มาจากพันธุ์เดียวกัน หรือมีสายเลือดระดับเดียวกันพ่อพันธุ์เหล่านั้นก็ยังมีความสามารถที่แตกต่างกัน ระดับสายเลือดที่ต้องการให้ลูกของมันเป็น ข้อมูลระดับพันธุ์ สายพันธุ์ ลูกผสม หรือ ระดับสายเลือดนั้นเป็นเพียงข้อมูลอย่างหยาบที่ใช้กำหนดขอบเขตในการพิจารณาคัดเลือกเบื้องต้นเท่านั้น

6. เกษตรกรควรพยายาม “เลือกพ่อพันธุ์ที่มีข้อมูลการแสดงลักษณะต่างๆ ของลูกที่เกิดและเลี้ยงดูภายใต้สภาพแวดล้อมของประเทศไทย” เพื่อลดความเสี่ยงในการตัดสินใจคัดเลือกที่ผิดพลาด แต่ถ้าหากไม่สามารถทำได้ให้ “เลือกใช้น้ำเชื้อพ่อพันธุ์ในประเทศที่มีลักษณะสภาพแวดล้อมหรือสภาพการจัดการฟาร์มใกล้เคียงกับของฟาร์มของเกษตรกรเอง” มากที่สุด

7. ของฟรีไม่มีในโลก “น้ำเชื้อที่มีราคาถูกจนผิดสังเกต อาจเป็นพ่อพันธุ์ที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการทดสอบความสามารถทางพันธุกรรมอย่างเหมาะสม” การนำน้ำเชื้อเหล่านั้นมาใช้จะทำให้ผู้ผลิตตกอยู่บนพื้นฐานของ “ความเสี่ยง” ในการได้สัตว์รุ่นลูกตรงตามความต้องการหรือไม่ และอาจสร้างปัญหาต่อการควบคุมความก้าวหน้าทางพันธุกรรมและความคุ้มค่าต่อการลงทุน

8. น้ำเชื้อของพ่อพันธุ์ผ่านการพิสูจน์ (proven sire) มีราคาสูงกว่า แต่ “มีความน่าเชื่อถือและแม่นยำมากกว่า” พ่อพันธุ์หนุ่มที่รอการพิสูจน์ (young bull) เพื่อลดความเสี่ยงในการตัดสินใจคัดเลือกที่ผิดพลาด เกษตรกรควรพิจารณา “เลือกใช้พ่อพันธุ์ที่มีความสามารถทางพันธุกรรมดี และมีความน่าเชื่อถือหรือความแม่นยำในการถ่ายทอดความสามารถทางพันธุกรรมที่ดีเหล่านั้นสูง

9. เกษตรกร “ควรบันทึกชื่อ พันธุ์ และสายเลือดของพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ รวมถึงวันที่ผสมพันธุ์ทุกครั้ง” ทั้งนี้เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ประกอบการพิจารณาพ่อหรือแม่พันธุ์เหล่านั้นอีกในอนาคต และเพื่อเป็นพันธุ์ประวัติให้กับสัตว์รุ่นลูกที่เกิดใหม่

10. เกษตรกร “ควรใช้พ่อพันธุ์ อย่างน้อย 2 ตัว ในการผสมพันธุ์กับแม่พันธุ์ต่างๆ ในฟาร์มในแต่ละช่วงฤดูกาลในแต่ละปี” และ “ไม่ควรเปลี่ยนพ่อพันธุ์ยกชุดในแต่ละฤดูกาล” แต่ “ควรคงการใช้ประโยชน์จากพ่อพันธุ์เดิมไว้อย่างน้อย 1 ตัว

11. “พ่อพันธุ์แต่ละตัวควรถูกนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการผสมพันธุ์ในฟาร์มอย่างน้อยสองฤดูกาลติดต่อกัน” ทั้งนี้เพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มการจัดการของโครุ่นลูกของพ่อพันธุ์เหล่านั้นให้สามารถนำมาพิจารณาเปรียบเทียบซึ่งกันและกันได้อย่างไม่ลำเอียง

12. การแสดงออกในลักษณะต่างๆ (การเจริญเติบโต การให้ผลผลิต ประสิทธิภาพการสืบพันธุ์) ของลูกของพ่อและแม่พันธุ์ที่ใช้ มีประโยชน์ต่อการพิจารณาว่าจะเลือกใช้พ่อ-แม่พันธุ์ตัวเดิมอีกหรือไม่ ดังนั้น เกษตรกรจึง “ควรให้ความสำคัญและจดบันทึกข้อมูลการให้ผลผลิตพร้อมพันธุ์ประวัติของโคนมแต่ละตัว เพื่อนำมาใช้ในการพิจารณาด้านต่างๆ สำหรับการพัฒนาศักยภาพการผลิตภายในฟาร์มของเกษตรกรเอง