การปรับปรุงพันธุ์และการเลือกใช้น้ำเชื้อพ่อพันธุ์โคนม (ตอนที่ 4)
ผู้เขียน: ผศ.ดร. ศกร คุณวุฒิฤทธิรณ
ข้อมูลทางพันธุกรรมที่ใช้ในการพิจารณาคัดเลือกพ่อพันธุ์โคนม
โดยทั่วไป คุณค่าการผสมพันธุ์หรือความสามารถทางพันธุกรรมสำหรับลักษณะใดๆ (BV; Breeding Value หรือ TA; Transmitting Ability) ของพ่อพันธุ์สัตว์ที่ปรากฏในแคตาล็อก มักถูกแสดงควบคู่ไปกับระดับความเชื่อมั่น (Rel.; Reliability) หรือความแม่นยำ (Acc.; Accuracy) ในการได้มาซึ่งคุณค่าการผสมพันธุ์สำหรับลักษณะใดๆ ที่คำนวณได้เหล่านั้น
คุณค่าการผสมพันธุ์ของสัตว์พ่อพันธุ์แต่ละตัวที่มาจากหน่วยงาน องค์กร หรือประเทศต่างๆ ล้วนเป็นค่าที่แสดงถึงความสามารถทางพันธุกรรมของพ่อพันธุ์ที่ถ่ายทอดไปยังสัตว์รุ่นลูกที่ถูกเลี้ยงดูภายใต้สภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นภายในประชากรสัตว์ที่หน่วยงาน องค์กร หรือประเทศนำมาพิจารณา ดังนั้น ค่าเหล่านี้จึงไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบข้ามหน่วยงาน องค์กร หรือประเทศได้ เว้นเสียแต่ ข้อมูลที่หน่วยงาน องค์กร หรือประเทศนั้นๆ ถูกนำมารวมกันและพิจารณาร่วมกัน นอกจากนี้ คุณค่าการผสมพันธุ์ที่ได้จากการวิเคราะห์ในแต่ละครั้งหรือในแต่ละปีนั้นไม่จำเป็นต้องมีค่าเท่าเดิม และมีค่าทั้งที่เป็นบวกและลบแตกต่างกันไปเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของประชากรในขณะนั้น ทั้งนี้เพราะขนาดและโครงสร้างของประชาการที่หน่วยงาน องค์กร หรือประเทศนำมาพิจารณาในแต่ละปีนั้นไม่เหมือนกัน ส่วนค่าความเชื่อมั่นและความแม่นยำนั้นแสดงถึงความน่าจะเป็นในการได้มาซึ่งค่าเหล่านั้นอีกเมื่อนำสัตว์ตัวนั้นไปใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์สำหรับผลิตสัตว์รุ่นต่อไป
คุณค่าการผสมพันธุ์และความเชื่อมั่นในค่าการผสมพันธุ์ ล้วนมีประโยชน์อย่างมากต่อการคัดเลือกสัตว์พ่อแม่พันธุ์ เนื่องจาก ข้อมูลดังกล่าวจัดเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงในการคัดเลือกสัตว์สำหรับใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงพันธุ์ และยังให้ผลลัพธ์ดีกว่าการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่พิจารณาแต่เพียงปริมาณการให้ผลผลิตภายนอก
ข้อมูลที่แสดงในแคตาล็อก ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน ได้แก่ 1) ข้อมูลพันธุ์ประวัติของพ่อพันธุ์ 2) ภาพของพ่อพันธุ์ และ 3) ความสามารถทางพันธุกรรมสำหรับลักษณะใดๆ พร้อมด้วยค่าแสดงถึงระดับความเชื่อมั่นและการได้มาซึ่งข้อมูลเหล่านั้นของพ่อพันธุ์ ข้อมูลต่างๆ ได้ถูกรวบรวมและอธิบายความหมายไว้ดังนี้
1) ข้อมูลพันธุ์ประวัติของพ่อพันธุ์ (Bull Pedigree Information)
Name = ชื่อของพ่อพันธุ์
Code = รหัสของพ่อพันธุ์
Pedigree = พันธุประวัติ
Reg. Name = ชื่อที่ได้รับการจดทะเบียน
Reg. No. = หมายเลขประจำตัวที่ได้รับการจดทะเบียน
Tattoo No. = หมายเลขประจำตัวที่ได้รับการสักบนตัว
Born / Birth Date = เกิดเมื่อวันที่
Sire = พ่อ
Dam = แม่
MGS = ตา (Maternal Grand Sire)
MGD = ยาย (Maternal Grand Dam)
PGS = ปู่ (Paternal Grand Sire)
PGD = ย่า (Paternal Grand Dam)
Dtrs / Daus = ลูกเพศเมีย (Daughters )
Herd = ฝูง
2) ค่าที่แสดงถึงความสามารถทางพันธุกรรม ( Genetic Ability Information )
BV = ค่าการผสมพันธุ์, ศักยภาพทางพันธุกรรม, ความสามารถทางพันธุกรรม สำหรับลักษณะใดๆ (Breeding Value)
EPD = ค่าคะเนความแตกต่างทางพันธุกรรมในรุ่นลูกสำหรับลักษณะใดๆ (Expected Progeny Difference) มีค่าเท่ากับครึ่งหนึ่งของ BV
PTA = ค่าทำนายความสามารถในการถ่ายทอดทางพันธุกรรมสำหรับลักษณะใดๆ (Predicted Transmitting Ability) มีค่าเท่ากับครึ่งหนึ่งของ BV
STA = ค่าทำนายความสามารถในการถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่ได้รับการปรับมาตรฐานแล้วสำหรับลักษณะใดๆ (Standardized Transmitting Ability)
PTI = ดัชนีชี้วัดความสามารถทางพันธุกรรมการให้ผลผลิตและรูปร่าง (Production - Type Index )
Repeatability = อัตราซ้ำ
Rel. = ระดับความเชื่อมั่น, ความน่าเชื่อถือ (Reliability)
Acc. = ระดับความแม่นยำ (Accuracy)
3) ลักษณะการให้ผลผลิต (Production Traits)
Milk = ผลผลิตน้ำนม
Protein = ผลผลิตโปรตีนในน้ำนม
Fat = ผลผลิตไขมันนม
Productive Life = อายุในการให้ผลผลิต (PL)
Milking Speed = อัตราการปลดปล่อยน้ำนม
4) ลักษณะรูปร่าง (Type Traits)
Stature = ส่วนสูง (เตี้ย – สูง)
Strength = ความแข็งแรง (อ่อนแอ – แข็งแรง)
Body Depth = ความลึกลำตัว (ตื้น – ลึก)
Dairy Form = ลักษณะความเป็นโคนม (น้อย – มาก)
Rump Angle = มุมเชิงกราน (ท้ายสูง – ท้ายต่ำ)
Thurl Width = ความกว้างของบั้นท้าย (แคบ – กว้าง)
Rear Legs - Side Set= ลักษณะขาหลัง – ด้านข้าง (ตั้งตรง – โค้งงอ)
Real Legs - Rear View= ลักษณะขาหลัง – ด้านหลัง (เข่าชิด – เขาแบะออก)
Foot Angle = มุมกีบ (ตื้น – สูงชัน)
Foot & Legs Score = คะแนนของลักษณะขาและกีบโดยรวม (ต่ำ – สูง)
Fore Udder Attachment = การเกาะยึดของเต้านมส่วนหน้า (หลวม – แข็งแรง)
Rear Udder Height = ความสูงของเต้านมส่วนหลัง (ต่ำ – สูง)
Rear Udder Width = ความกว้างของเต้านมส่วนหลัง (แคบ – กว้าง)
Udder Cleft = การเกาะยึดของเต้านม (อ่อนแอ – แข็งแรง)
Udder Depth = ความหย่อนยานของเต่านม (หย่อนยาน – กระชับ)
Front Teat Placement = การวางตัวของหัวนมคู่หน้า (แยกห่างกัน – ชิดติดกัน)
Teat Length = ความยาวของหัวนม (สั้น – ยาว)
Udder Composite = ลักษณะโดยรวมของเต้านม (UDC)
Foot & Leg Composite = ลักษณะโดยรวมของขาและกีบ (FLC)
Capacity = ความจุลำตัว (น้อย – มาก)
Body Length = ความยาวลำตัว (สั้น – ยาว)
Muscling = ความมีกล้ามเนื้อ (น้อย – มาก)
Femininity = ลักษณะความเป็นโคเพศเมียของลูกสาว
5) ลักษณะการเจริญเติบโตและซาก (Growth and Carcass Traits)
Calving Ease = ลักษณะการคลอดลูกง่าย (CE)
Calving Interval Index = ดัชนีบ่งชี้ระยะห่างของการให้ลูกแต่ละตัว (CI)
Birth Weight = น้ำหนักแรกเกิด (BW)
Weaning Weight = น้ำหนักหย่านม (WW)
Yearling Weight = น้ำหนักปรับที่อายุ 365 วัน (YW)
Scrotal Circumference = เส้นรอบวงของอัณฑะ (SC)
Carcass Weight = น้ำหนักซาก (CW)
Marbling = ไขมันแทรกในกล้ามเนื้อ (Marb.)
Back Fat= ระดับไขมันสันหลัง (วัดที่ตำแหน่งซี่โครงคู่ที่ 12; BF)
Rib Eye Area = พื้นที่หน้าตัดเนื้อสัน (REA)
ภาพที่ 6 ตัวอย่างการนำเสนอข้อมูลในแคตาล็อกพ่อพันธุ์
การใช้ประโยชน์จากค่าทำนายคุณค่าการผสมพันธุ์ในการคัดเลือกพ่อพันธุ์โคนม
หากสมมติว่า เราสนใจในพ่อพันธุ์ตัวหนึ่งชื่อฟิก (Fix) ซึ่งมีหมายเลข 2232 พ่อพันธุ์ตัวนี้มีค่าการผสมพันธุ์สำหรับการให้ผลผลิตน้ำนมที่ 305 วัน เท่ากับ + 306.81 กิโลกรัม ค่าการผสมพันธุ์นี้แสดงถึงความสามารถทางพันธุกรรมของฟิกในลักษณะน้ำนม 305 วัน ที่มีค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของฝูง ( สำหรับลักษณะการให้ผลผลิตน้ำนมที่ 305 วัน ) เท่ากับ 306.81 กิโลกรัม ด้วย สัตว์พ่อแม่พันธุ์จะสามารถถ่ายทอดพันธุกรรมของตนไปสู่ลูกโดยเฉลี่ยเพียงครึ่งหนึ่ง ดังนั้น ลูกที่เกิดขึ้นจากพ่อพันธุ์ชื่อฟิกนั้น โดย “เฉลี่ย” แล้ว จะมีความสามารถทางพันธุกรรมที่ได้รับจากพ่อพันธุ์ 153.41 กิโลกรัม (306.81 / 2 = 153.41) ซึ่งในความเป็นจริงลูกโคนมที่เกิดขึ้นจากฟิกก็จะมีทั้งที่มีความสามารถทางพันธุกรรมที่ได้รับจากพ่อพันธุ์ “น้อยกว่า” และ “มากกว่า” 153.41 กิโลกรัม ส่วนจะน้อยกว่าหรือมากกว่าผันแปรไปมากหรือน้อยเท่าไรนั้น เราสามารถพิจารณาได้จากค่าความแม่นยำ ถ้าหากค่าความแม่นยำของลักษณะนั้นมี “ค่ามาก” ก็หมายความว่าลูกโคที่เกิดขึ้นจะมีความสามารถทางพันธุกรรมที่ได้รับจากพ่อพันธุ์ใกล้เคียง 153.41 กิโลกรัมทั้งทางบวกและลบ แต่ถ้าค่าความแม่นยำที่คำนวณค่าได้ที่มี “ค่าน้อย” ก็หมายความว่าลูกโคที่เกิดขึ้นจะแตกต่างไปจาก 153.41 กิโลกรัม มากทั้งทางบวกและลบเช่นกัน ดังนั้น เมื่อเราเรียงลำดับค่าการผสมพันธุ์แล้วเราจึงจำเป็นต้องพิจารณาค่าความแม่นยำประกอบด้วย เพราะถ้าหากพิจารณาเพียงเฉพาะค่าการผสมพันธุ์ที่สูงเพียงอย่างเดียว แต่ความแม่นยำของค่าการผสมพันธุ์นั้นมีค่าต่ำมาก เราก็อาจจะได้ลูกที่มีความสามารถทางพันธุกรรมที่ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากค่าความแม่นยำอยู่ในระดับปานกลางแต่ค่าการผสมพันธุ์นั้นอยู่ในระดับที่เราพึงพอใจ เราอาจพิจารณาพันธุ์ประวัติของพ่อพันธุ์ตัวนั้นย้อนกลับไปหรือรอดูผลการวิเคราะห์ค่าการผสมพันธุ์ครั้งต่อไปก่อนการตัดสินใจคัดเลือก เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้มากขึ้นกว่าเดิมก็ได้ นอกจากนี้แล้ว เกษตรกรยังอาจจำเป็นต้องพิจารณา “ราคาของน้ำเชื้อพ่อพันธุ์ที่สนใจ” ประกอบการตัดสินใจคัดเลือกด้วยเช่นกัน
ด้วยประเทศไทยเป็นประเทศในเขตร้อน-ชื้น พืชอาหารสัตว์มีลักษณะแตกต่างจากประเทศในเขตหนาวและอบอุ่น มาตรฐานและรูปแบบในการจัดการฟาร์มก็ยังมีความแตกต่างจากประเทศต่างๆ หลายประเทศ ดังนั้น การพิจารณาเลือกพ่อพันธุ์เพื่อการผสมเทียม นอกจากจะพิจารณาที่ข้อมูลทางพันธุกรรมที่นำเสนอในแคตาล็อกแล้ว การพิจารณาถึงแหล่งที่มาของพ่อพันธุ์เหล่านั้นหรือสิ่งแวดล้อมที่พ่อพันธุ์เหล่านั้นถูกนำไปใช้ประโยชน์ ก่อนการพิจารณาประเมินความสามารถทางพันธุกรรรม ก็ยังมีเป็นสิ่งสำคัญและมีความจำเป็นต่อการลด “ความเสี่ยงในการตัดสินใจ” ที่ผิดพลาดได้เช่นกัน