ที่มา: วารสารโคนม ปีที่ 18 ฉบับที่ 1
ผู้เขียน: น.สพ.กฤช พจนอารี
เคยนึกสงสัยน้อยอกน้อยใจโชควาสนาบ้างไหมครับที่โคบ้านเรานมน้อยกว่าเพื่อนบ้าน ทั้งๆที่พยายามประคบประหงมอย่างกับลูกในไส้แล้ว ในขณะที่เพื่อนบ้านเลี้ยงแบบแม่เลี้ยงเลี้ยงลูกเลี้ยงยังได้นมมากว่าเราเลิกคิดมากได้แล้วครับ วันนี้ผมจะมาเฉลยข้อข้องใจให้ฟังว่าทำไมสวรรค์ไม่เข้าข้างเราบ้างเลย
นักวิชาการหลายคนมักจะเน้นย้ำให้เราฟังอยู่เสมอว่า นมจะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับการจัดการ การให้อาหาร คุณภาพและปริมาณของอาหาร ฯลฯ เราก็เลยมุ่งเน้นการจัดการกันอย่างเต็มที่ พอไม่เห็นผลก็เลยโทษว่าสวรรค์ลำเอียง แต่ที่จริงการให้นมนั้นขึ้นกับปัจจัย 2 ประการ ประกอบกันครับ คือ
1) ความสามารถในการให้นมของโคตัวนั้น
2) การจัดการ ยกตัวอย่างเช่น วัวหมายเลข 1 เป็นโคพันธุ์ดี มีความสามารถในการให้นมได้วันละ 40 กก. ถ้าได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี ก็จะให้นมได้ 40 กก./วัน แต่ถ้าเลี้ยงดูปานกลางก็จะให้นม 20 กก./วัน ถ้าดูแลแย่มากๆ ก็จะให้นม 10 กก./วัน ส่วนวัวหมายเลข 2 เป็นโคสายพันธุ์ที่ให้นมน้อย มีความสามารถในการให้นมได้วันละ 15 กก. ดังนั้นต่อให้เลี้ยงดูดีแค่ไหนก็ตาม ก็ให้นมได้สูงสุดไม่เกิน 15 กก./วัน แต่ถ้าเลี้ยงดูไม่ดี อาจให้นมแค่ 3 ถึง 4 กก./วันเท่านั้น
ดังนั้น ถ้าจะสรุปให้สั้นก็ควรพูดว่า นมจะดีหรือไม่ต้องอาศัยทั้งพันธุ์โคและการจัดการ แต่ก็อย่าเพิ่งท้อถอยหมดกำลังใจนะครับ สำหรับคนที่มีโคพันธุ์ไม่ดีอยู่ ทุกอย่างมีดีมีเสียครับ โคที่ให้นมสูงๆ มักจะผสมติดยาก โคที่ให้นมน้อยมักจะผสมติดง่าย นั่นเป็นประเด็นที่ 1 ประเด็นที่ 2 คือ ลักษณะต่างๆ ของโคนม เช่น การให้น้ำนมจะได้รับการถ่ายทอดมาจากพ่อและแม่ประมาณฝ่ายละครึ่งหนึ่ง ดังนั้น ถ้าแม่โคมีความสามารถในการให้นมได้วันละ 15 ก.ก. แล้วเราเลือกเอาน้ำเชื้อพ่อโคที่ดี ที่มีความสามารถในการให้นมได้ 45 ก.ก. ลูกสาวที่จะคลอดออกมาก็ควรจะมีความสามารถในการให้นมได้ 30 ก.ก./วัน ใช่ไหมครับ (15+ 45 / 2 = 30) แถมยังติดลักษณะการผสมติดง่ายเลี้ยงดูง่ายมาจากแม่อีกด้วย รุ่นแม่หวังพึ่งไม่ได้ก็ต้องหวังพึ่งรุ่นลูกล่ะครับ นี่เป็นกรณีของคนที่มีทุนน้อยนะครับประเภทขายโคออกไม่ได้ขายแล้วไม่มีเงินไปซื้อตัวใหม่ แต่ถ้ากรณีคนมีเงินซึ่งทำอะไรก็ดูดีไปหมด ขอแนะนำให้คัดทิ้งไปเลยครับ สำหรับโคที่เลี้ยงดูอย่างดีแล้วยังได้นมน้อยอยู่แต่ขอให้มั่นใจก่อนนะครับว่า ที่ให้นมน้อยน่ะเป็นเพราะโคไม่ดีจริงๆ ไม่ใช่รีดนมไม่เป็น ให้อาหารไม่พอ หรืออื่นๆ เดี๋ยวจะกลายเป็นฆ่าวัวดีๆ หมด จะเสียใจภายหลังได้
จะเห็นว่าส่วนใหญ่เราจะพูดเน้นเรื่องปริมาณน้ำนมกันเป็นหลัก เพราะบ้านเรายังเน้นการซื้อนมตามปริมาณอย่างเดียวอยู่ ไม่ค่อยสนใจคุณภาพกันสักเท่าไหร่ ก็ไม่เป็นไรเอาเรื่องนมอย่างเดียวก็ดีเหมือนกัน เพราะถ้าคิดอยากปรับปรุงหลายอย่างพร้อมๆ กันมันจะยุ่ง เพราะการทำอะไรพร้อมกัน 2 อย่าง ส่วนใหญ่จะได้ไม่ดีซักอย่าง ยกตัวอย่างเช่น ทานข้าวไปร้องเพลงไปอาจสำลักข้าวได้ จะมียกเว้นบางอย่างเท่านั้นเอง ที่ทำพร้อมกัน 2 อย่างแล้วไม่ส่งผลกระทบต่อกัน เช่น อาบน้ำไปร้องเพลงไป การปรับปรุงลักษณะของโคก็เช่นเดียวกัน ถ้าคิดปรับปรุงปริมาณน้ำนมให้สูงขึ้นพร้อมๆ กับให้เปอร์เซ็นต์ไขมันสูงขึ้นด้วย ผมจะออกมาว่าทั้งสองอย่างยิ่งทำยิ่งแย่ลงกว่าเดิม หรือทำแล้วไม่ได้ผลอะไรเลย จะมีบางอย่างที่ทำพร้อมกันได้ก็เช่นการปรับปรุงปริมาณน้ำนมไปพร้อมๆ กับปรับปรุงรูปร่างลักษณะแบบที่ อ.ส.ค. ทำอยู่ โดย อ.ส.ค. จะเน้นในส่วนของลักษณะเต้านมและขาเป็นหลัก เนื่องจาก 2 อย่างนี้มีผลต่อการใช้งานแม่โคว่าจะใช้งานได้นานหลายปีหรือไม่ ลองคิดดูง่ายๆ ถ้าขาไม่แข็งแรงเจ็บกีบบ่อยๆ อายุคงไม่ยืนแน่ๆ หรือถ้าเต้านมหย่อนยานมาๆ คลอดลูกได้แค่ 3 ตัว หัวนมก็ลากพื้นแล้วคงไม่มีใครอยากให้คลอดลูกตัวที่ 4 หรอกนะครับ
พูดถึงเรื่องการปรับปรุงพันธุ์ โดยเลือกปรับปรุงปริมาณน้ำนมนี่ ถือว่าเลือกทำของง่ายนะครับ เพราะเป็นลักษณะที่มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือทางกรรมพันธุ์แล้วแต่เรียกกันสูงถึง 25 % ถ้าไปเลือกปรับปรุงเรื่องการผสมติดง่ายล่ะก็ เรียกว่าเลือกทำของยากครับ เพราะมีการถ่ายทอดเพียง 5% เท่านั้น เพราะฉะนั้น นักปรับปรุงพันธุ์จึงวางแผนให้ดี ว่าจะเลือกทำงานแบบไหน ใช้เวลาเท่าไหร่กว่าจะสำเร็จ แล้วก็ต้องชี้แจงกับเจ้าของฟาร์มให้ทราบล่วงหน้าเลยว่า “ถ้าเลือกทำของยากก็ใช้เวลานานหน่อยจะมาว่ากันทีหลังไม่ได้นะ”“อยากเห็นผลเร็วๆ ก็เลือกปรับปรุงอะไรที่มันง่ายๆ ดีไหม” อะไรทำนองนี้นะครับ หรือบางฟาร์มอาจต้องการปรับปรุงพันธุ์ เพื่อแก้ปัญหาที่พบในปัจจุบันก็ได้ เช่น ถ้าในฟาร์มพบว่ามีค่าโซมาติกเซลล์สูง ทั้งๆ ที่การจัดการด้านอื่นๆ ก็ดีหมด ลองดูที่เต้านมโคอีกทีซิครับ เพราะลักษณะของเต้านมที่ไม่ดีมีผลโดยตรงกับค่าโซมาติกเซลล์ และแก้ไขปัญหานี้ได้ด้วยการปรับปรุงพันธุ์โคนมรุ่นใหม่ให้มีลักษณะเต้านมที่ดี ก็ใช้เวลาแค่ 2 ปี ก็เห็นผลงานแล้วครับ รอไม่นานเลย
สรุปท้ายสุดอีกทีว่า การปรับปรุงพันธุ์นั้นไม่ใช่เรื่องลับ ไม่มีเคล็ดอะไรที่ลับ มีแต่เคล็ดไม่ลับ สำคัญที่ว่าเราต้องมีเป้าหมายในการปรับปรุงพันธุ์ที่ชัดเจน ว่าต้องการปรับปรุงเรื่องอะไร เพื่ออะไร วิธีการก็จะตามมาเอง ส่วนเรื่องความสำเร็จจะมาถึงเร็วหรือช้า ก็ต้องดู่าเลือกทำอะไรและที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ การคัดเลือก ต้องมีการคัดเลือกที่เข้มงวดทั้งคัดเข้าและคัดออก จะเป็นนักปรับปรุงพันธุ์ที่ดีต้องโหดครับ ตัวไหนไม่ดี ต้องเอาออกทันทีห้ามปรานีเด็ดขาด เหมือนอย่างคำขวัญที่ว่า “อย่าปล่อยให้คนชั่วลอยนวล” นั่นแหละครับ แล้วเมื่อทำครบสมบูรณ์ตามขั้นตอนแล้ว ผลงานที่ออกมาคงจะเป็นที่พอใจของทุกคนแต่ถ้าโคพันธุ์ดีมาเจอกับการจัดการที่ดี แล้วผลผลิตยังออกมาไม่ดีอีกละก็ คราวนี้ถึงทีต้องโทษสวรรค์กันแล้วล่ะครับว่าทำไมสวรรค์ถึงกลั่นแกล้งคนดี สวรรค์ลำเอียง สวรรค์ไม่มีตา ฯลฯ ก็ควรจะต้องมีการชุมนุมประท้วงเทวดา มีการเผาหุ่นเทวดา รวมไปถึงเผาพริกเผาเกลือแช่ง เพื่อให้ได้สำนึกกันซะบ้างว่า ถึงยังไงก็ไม่มีสิทธิ์มาฝ่าฝืนกฎวิทยาศาสตร์ด้านการปรับปรุงพันธุ์ที่ว่า P = G + E สิ่งที่แสดงออกมา (เช่น การให้ผลผลิต) = พันธุกรรม + สิ่งแวดล้อม (เช่น การจัดการ อาหาร ฯลฯ)