ที่มา: วารสารโคนม ปีที่ 17 ฉบับที่ 6
ผู้แต่ง: น.สพ.กฤช พจนอารี
อโรคยา… (จำไม่ได้ + ขี้เกียจหาประโยคเต็มๆ) แปลว่า ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐสำหรับโคนมควรจะต้องเสริมไปอีกว่า การคลอดลูกง่ายเป็นลาภอันประเสริฐ ประเสริฐทั้งกับตัวแม่โคและตัวลูกโคตัวแม่ก็ไม่เจ็บปวดกับการคลอดมากนัก ก็จะแข็งแรง
สดใส ให้นมได้เต็มความสามารถ นอกจากนั้น ก็ยังมีข้อมูลยืนยันว่าแม่โคที่คลอดลูกง่ายมักจะไม่ค่อยมีปัญหา ระบบสืบพันธุ์ตามมาหลังคลอด การถูกคัดทิ้งก็น้อยกว่าแม่โคที่คลอดลูกยาก ส่วนตัวลูกโคเองก็สบายตัว สายใจ กินอาหารเจริญเติบโตได้เต็มที่ ดังนั้น ควรจะต้องให้ความสนใจในเรื่องการคลอดง่าย คลอดยากกันสักหน่อย พูดกันง่ายๆ ถึงสาเหตุของการคลอดยากจะมีอยู่ 5 อย่างคือ
- แม่ตัวเล็ก
- ลูกตัวใหญ่
- แม่ตัวเล็กและลูกตัวใหญ่
- ลูกมีลักษณะพิการ เช่น หัวโตผิดปกติ ฯลฯ
- ลูกออกมาผิดท่า เช่น หงายท้องออก ฯลฯ
คงไม่ต้องพูดถึงรายละเอียดของทั้ง 5ข้อนี้เพราะเห็นภาพค่อนข้างชัดเจนแต่ที่อยากจะพูดถึงก็คือ รูปร่างลักษณะบางอย่างที่มีผลกับการคลอดลูกง่ายหรือยากลักษณะที่ว่านี้ก็คือ ความลาดเอียงของเชิงกราน และความกว้างของเชิงกราน คงจะเริ่มคุ้นกันบ้างแล้วนะครับกับวิธีการให้คะแนนจาก 1 ถึง 9 จากสารสารโคนมเล่มที่ผ่านๆ มา คราวนี้ก็ยังคงใช้ระบบเดิม โดยมีการเก็บข้อมูลจากแม่โคที่คลอดลูกท้องที่ 2 (เน้นนะครับ ใช้ท้องที่ 2 เป็นตัววัด ทั้งนี้เพราะโคท้องแรกมักเป็นโรคที่ยังไม่โตเต็มที่เลยจะมีข้อกังขาหรือความแปรผันได้)
ที่นี้ก็อย่าลืมเลือกกันหน่อยนะครับ ว่าควรจะใช้น้ำเชื้อพ่อโคตัวไหน ผสมกับแม่โคของเรา เพื่อให้ได้ลูกโคที่ดีมีบั้นท้ายที่แจ๋วพอจะคลอดลูกได้ง่าย วิธีการเลือกก็ไม่ยากครับ ถ้าเป็นน้ำเชื้อพ่อพันธุ์จากต่างประเทศที่มีผลการพิสูจน์แล้วก็ให้ดูที่ค่าอัตราการคลอดลูกยาก ซึ่งมักจะมีบอกมาพร้อมรายละเอียดอื่นๆ แต่ถ้าใช้น้ำเชื้อที่ อ.ส.ค. เป็นผู้สั่งเข้ามาใช้ แล้วก็ไม่ต้องกังวลในเรื่องนี้ เพราะ อ.ส.ค. ได้กำหนดคุณสมบัติข้อนี้เอาไว้ในการเลือกซื้ออยู่แล้ว โดยเราตั้งคุณสมบัติเรื่องนี้ไว้ว่าอัตราการคลอดลูกยากต้องไม่เกิน 9% (คือลูกที่คลอดออกมา 100 ตัว ต้องมีคลอดยากไม่เกิน 9 ตัว) ซึ่งเป็นตัวเลขที่กำลังเหมาะกับโคบ้านเรา คือ ลูกออกมาไม่เล็กไม่ใหญ่จนเกินไป
สำหรับผู้ที่เลือกใช้น้ำเชื้อในประเทศที่ยังไม่มีข้อมูลเรื่องนี้ออกมาอย่างเป็นทางการก็ไม่ต้องกังวลครับ เรามีการติดตามข้อมูลพวกนี้อยู่เสมอ ซึ่งจากข้อมูลขั้นต้นที่มีก็พอจะบอกกันได้ว่า พ่อโคตัวไหนของเราจะให้ลูกตัวโตจนมีปัญหาคลอดยาก เราก็จะระบุเป็นพิเศษให้ระมัดระวังในการใช้ และคาดว่าอีกไม่นานข้อมูลที่เป็นระบบ แบบของต่างประเทศก็จะสามารถแสดงพร้อมกับข้อมูลด้านการให้ผลผลิต ที่ได้ทำการต่อเนื่องมานานกว่า 4 ปี แล้วครับ