ผู้แต่ง: ผศ.ดร.ศกร คุณวุฒิฤทธิรณ
ด้วยภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันที่มีการแข่งขันกันสูง ประเทศต่างๆ ต่างต้องการความอยู่รอดทางเศรษฐกิจและการค้าในภาพรวม เมื่อการเจรจาระหว่างประเทศที่เป็นสมาชิกขององค์กรการค้าโลก (World Trade Organization; WTO) ไม่สามารถตอบสนองความต้องการต่างๆ ทางเศรษฐกิจให้กับแต่ละประเทศได้ ประเทศเหล่านั้นจึงหันมาจับกลุ่มเจรจาการค้าและจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) กับประเทศที่ตนเองคิดว่าจะได้รับผลประโยชน์ในภาพรวมทันที ประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่ได้ดำเนินการเช่นนั้นเช่นกัน และหนึ่งในสินค้าหลายๆ รายการที่ได้นำไปเจรจาการค้ากับประเทศคู่ค้านั้นก็คือ “นมและผลิตภัณฑ์นม” ซึ่งผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการทำข้อตกลงการค้าเสรีครั้งนี้ก็คือผู้ผลิต เกษตรกร และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการค้านมและผลิตภัณฑ์นม ณ วันนี้เราคงไม่จำเป็นต้องมาถกกันว่าการทำข้อตกลงการค้านั้น “ควรหรือไม่ควรทำหรือไม่” เพราะเราได้กระทำสิ่งเหล่านั้นไปแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดในขณะนี้ก็คือ “เราจะดำเนินการอย่างไรถึงจะทำให้การผลิตนมและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตนมภายในประเทศไทยอยู่รอดตามกลไกทางการตลาดและสามารถแข่งขันทางการค้าทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้” ความอยู่รอดและความสามารถในการแข่งขันทางการค้านมและผลิตภัณฑ์นมที่ผลิตได้ในประเทศไทยนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญต่อเรื่องดังกล่าว คือ “ต้นทุนการผลิต” ทั้งนี้เนื่องจาก สินค้าที่มีคุณภาพระดับเดียวกันแต่มีต้นทุนการผลิตแตกต่างกัน ย่อมมีโอกาสในการเจรจาต่อรองทางการค้าและโอกาสในการได้ผลกำไรแตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้ เอกสารฉบับนี้จึงถูกเรียบเรียงขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงปัจจัยที่มีบทบาทสำคัญต่อการผลิตนมต้นทุนต่ำ สถานภาพและโอกาสการพัฒนาพันธุกรรมโคนมไทย รวมทั้งการเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนาศักยภาพทางพันธุกรรมของโคนมในประเทศไทยเพื่อการผลิตต้นทุนต่ำ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลในเอกสารฉบับนี้จะสามารถช่วยกระตุ้นให้การผลิตนมในประเทศไทยตื่นตัว และหันมาเน้นหนักในการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต (ผลผลิตต่อหน่วยการลงทุน) มากกว่าพัฒนาด้านปริมาณผลผลิตแต่เพียงอย่างเดียว
ปัจจัยที่มีบทบาทสำคัญต่อการผลิตนมต้นทุนต่ำ
ในปัจจุบัน ประเทศไทยได้ก้าวเข้าไปสู่สถานการณ์การแข่งขันเชิงธุรกิจค่อนข้างเต็มตัว ซึ่งถ้าหากเรามองระบบการผลิตนมเป็นเสมือนหนึ่งในระบบการผลิตสินค้าสากล ความคิดดังกล่าวอาจสามารถอธิบายได้ด้วยแผนผังการผลิตที่แสดงในภาพที่ 1 กล่าวคือ ในระบบการผลิตโคนมนั้นจะประกอบไปด้วยการสรรหาวัตถุดิบ (Input) เพื่อนำมาป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิต (Process) เพื่อให้ได้ผลผลิต (Output) ออกมาจัดจำหน่ายได้เป็นผลลัพธ์ (Outcome) ของการประกอบการธุรกิจการผลิตนม
ภาพที่ 1 แผนผังการผลิตนมในรูปแบบการผลิตสินค้าสากล
หากพิจารณาจากผังการผลิตนมในรูปแบบการผลิตสินค้าสากลดังกล่าวข้างต้น (ภาพที่ 1) จะเห็นได้ว่า “ความสามารถในการลดต้นทุนการผลิตนั้น” ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ที่สำคัญ 3 ประการ คือ
- ความสามารถของผู้ผลิตหรือเกษตรกรในการสรรหาและโอกาสในการได้มาซึ่งวัตถุดิบ (Input) ที่มีคุณภาพและราคาเหมาะสม
คุณภาพและราคาของวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ในกระบวนการผลิต เช่น พันธุกรรมที่จะนำมาใช้ (โคเพศเมีย) หรือใช้ร่วม (น้ำเชื้อพันธุ์โคเพศผู้) กับโคนมเพศเมียที่ใช้งานอยู่ในระบบการผลิต อาหารหรือวัตถุดิบอาหารสัตว์ น้ำ วัคซีนและยารักษาโรค แรงงานที่มีประสบการณ์และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พื้นที่และการลงทุนที่เหมาะสม ความรู้ที่ถูกต้อง เทคโนโลยีที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพในการใช้งานเชิงปฏิบัติ และข้อมูลสำหรับการนำมาใช้ประกอบการพิจารณาดำเนินการต่างๆในกระบวนการผลิต การค้า และการตลาด เป็นต้น ล้วนมีบทบาทสำคัญต่อประสิทธิภาพและต้นทุนการผลิตนม อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไป วัตถุดิบที่มีคุณภาพดีมักมีราคาซื้อขายสูงกว่าวัตถุดิบที่ด้อยคุณภาพกว่า ผู้ผลิตหรือเกษตรกรจึงจำเป็นต้องพิจารณาถึง ความคุ้มค่าต่อการลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพเหล่านั้นมาใช้ในกระบวนการผลิต เช่นกัน
- ความสามารถทางพันธุกรรม (genetic) ของโคนมแต่ละตัวที่ใช้ในกระบวนการผลิต (Process)
ในกระบวนการผลิตนม โคนมแต่ละตัวจะทำหน้าที่เสมือนเป็นหน่วยการผลิต (processing unit) หน่วยหนึ่ง หากหน่วยการผลิตแต่ละหน่วยสามารถใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบแล้วเปลี่ยนเป็นผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ผลผลิตต่อหน่วยวัตถุดิบมีค่าสูง) และความมีประสิทธิภาพนั้นเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานโดยไม่ต้องการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ ย่อมส่งผลให้ระบบการผลิตนั้นมีโอกาสประสบผลสำเร็จในเชิงธุรกิจได้โดยใช้ต้นทุนการผลิตต่ำ และด้วยเหตุที่การหน่วยการผลิต (โคนม) ของการผลิตนมแตกต่างจากหน่วยการผลิต (เครื่องจักร) ในระบบการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ ตรงที่ “โคนมสามารถถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมที่ดีไปยังรุ่นต่อไป” ดังนั้น หากในระบบการผลิตนมมีการบริหารจัดการทางพันธุกรรมที่ถูกต้องและเหมาะสมแล้ว การดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลให้การลงทุนสำหรับหน่วยการผลิตในระบบการผลิตรุ่นต่อๆ ไปต่ำด้วยเช่นกัน
- ความสามารถของผู้ผลิตหรือเกษตรกรในการบริหารจัดการกิจกรรมต่างๆ ในกระบวนการผลิต (Process) ให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ
การบริหารจัดการกิจกรรมต่างๆ ในกระบวนการผลิตไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงพันธุ์ การประกอบสูตรอาหาร การจัดเตรียมอาหาร และการให้อาหาร โปรแกรมการจัดทำวัคซีนป้องกันและการรักษาโรค การจัดการโรงเรือนและสภาพแวดล้อมให้กับฝูงโคประเภทต่างๆ การบริหารจัดการแรงงาน ข้อมูล ความรู้ และเทคโนโลยีให้สามารถเกิดขึ้นอย่างสมดุลและเหมาะสม ความสามารถในการบริหารจัดการเรื่องต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้ระบบการผลิตดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ผลผลิตสูง ต้นทุนต่ำ) ความเสี่ยงในเรื่องต่างๆจะลดลงและมีโอกาสในการแข่งขันทางการค้ามากยิ่งขึ้น ความสำเร็จของการผลิตโคนมต้นทุนต่ำนั้นคงไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้วเพียงปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง แต่จะเกิดขึ้นได้ดีก็ต่อเมื่อมี “การบริหารจัดการให้ปัจจัยทั้งสามนั้นเกิดขึ้นได้อย่างสมดุล เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ” ซึ่งความสำเร็จในเรื่องดังกล่าวนั้นส่วนใหญ่จะเป็นผลมาจาก “ความสามารถและคุณสมบัติของตัวผู้ผลิตหรือเกษตรกร”มากกว่าบุคคลอื่นๆที่เกี่ยวข้องแนวความคิดข้างต้นนี้จำกัดที่ปัจจัยที่ผู้ผลิตและเกษตรกรสามารถบริหารจัดการได้ด้วยตนเองภายในระบบการผลิตของตน ในความเป็นจริงแล้วยังมีปัจจัยภายนอกอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความสามารถในการลดต้นทุนการผลิตอีกหลายปัจจัย เช่น ภาวะทางเศรษฐกิจและสังคม นโยบายการเมืองที่เกี่ยวข้องกับมาตรการและการสนับสนุน และการรวมกลุ่มทางสังคมในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองและการเจรจา เป็นต้น ปัจจัยเหล่านั้นมีความซับซ้อนและผันแปรอยู่ตลอดเวลาจึงไม่ขอกล่าวถึงในครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม จากแนวความคิดข้างต้นจะเห็นได้ว่า “พันธุกรรมของโคนม” เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อการผลิตนมต้นทุนต่ำ
สถานภาพและโอกาสทางพันธุกรรมโคนมไทย
ในปัจจุบัน สถานภาพทางพันธุกรรมของโคนมไทยในภาพรวมยังไม่สามารถสรุปให้เห็นได้เด่นชัดมากนัก เนื่องจากทั้งหน่วยงานของรัฐและเอกชนยังขาดข้อมูลทางพันธุกรรมของโคนมที่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะใช้เป็นตัวแทนประชากรโคนมของประเทศไทยได้ อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาและวิจัยในชุดข้อมูลที่แต่ละหน่วยงานมีอยู่ในปัจจุบันสามารถบอกเป็นนัยให้เราทราบได้ว่า “พันธุกรรมโคนมที่เลี้ยงอยู่ในประเทศไทยนั้นยังมีความหลากหลายทางพันธุกรรมสูง” ซึ่งหากความสามารถทางพันธุกรรมของโคนมในประชากรโคนมของประเทศไทยมีลักษณะเป็นเช่นนั้นจริงๆ ก็แสดงให้เห็นว่า “เรามีโอกาสพัฒนาพันธุกรรมของโคนมในประเทศไทยให้เกิดความก้าวหน้า (genetic progress) ได้มากกว่าความสามารถที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้มาก”
ตารางที่ 1 ความสามารถที่แสดงออกภายนอกของโคนมสาวท้องแรกในประชากรโคนมแห่งหนึ่งในเขตภาคกลางของประเทศไทย (พ.ศ. 2547)
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าข้อมูลที่ได้จากการศึกษาวิจัยของหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทยจะบอกเป็นนัยให้ทราบถึง โอกาสในการพัฒนาความสามารถทางพันธุกรรมของโคนมที่ใช้ในกระบวนการผลิตจากความหลากหลายทางพันธุกรรมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่หากผู้ผลิต เกษตรกร และผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ไม่สามารถบริหารจัดการทางพันธุกรรม (การคัดเลือก และการผสมพันธุ์) ของโคนมที่ตนเองมีอยู่หรือครอบครองไว้อย่างเป็นระบบ หรือดำเนินงานโดยขาดความรู้และความเข้าใจแล้ว ความหลากหลายทางพันธุกรรมของโคนมในประชากรจะยังคงอยู่ในสถานภาพเช่นเดิม ค่าเฉลี่ยของความสามารถทางพันธุกรรมของโคนมในประชากรก็จะไม่ได้รับการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เราต้องการ สถานภาพเช่นนี้คงไม่ช่วยให้ประสิทธิภาพของการผลิตโคนมในภาพรวมของประเทศไทยดีขึ้น ปริมาณผลผลิตที่ได้จะเป็นผลมาจาก ความสามารถในการสรรหาและได้มาซึ่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพ (ปัจจัยข้อที่ 1) และความสามารถในการบริหารจัดการกระบวนการผลิต (ปัจจัยข้อที่ 3) เท่านั้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยการลงทุนอยู่ตลอดเวลาการบริหารจัดการทางพันธุกรรมให้โคนมมีลักษณะตามที่ต้องการนั้น ประกอบไปด้วยขั้นตอนที่สำคัญ 2 ประการ คือ “การคัดเลือก” และ “การผสมพันธุ์” การคัดเลือกมักเกิดขึ้นร่วมกับการคัดทิ้งเสมอ การคัดเลือกช่วยให้ “โคนมที่มีพันธุกรรมดี” มีโอกาสถ่ายทอดพันธุกรรมที่ดีนั้นไปยังรุ่นลูก-หลาน การคัดทิ้งเป็นการป้องกันไม่ให้ “พันธุกรรมของโคนมที่เราไม่พึงปรารถนา” ปรากฏในประชากรหรือฝูงโคนมรุ่นลูก-หลานอีกต่อไป ส่วนการผสมพันธุ์นั้นเป็นการบริหารจัดการทางพันธุกรรมที่เปิดโอกาสให้พันธุกรรมดีของโคนมที่เราได้คัดเลือกไว้แล้วมารวมตัวกันและแสดงผลทางพันธุกรรม (genes expression) ออกมาในทิศทางที่เราต้องการ หากพันธุกรรมของโคนมในแต่ละรุ่นได้รับการคัดเลือกและผสมพันธุ์อย่างเป็นระบบและต่อเนื่องจะสามารถช่วยให้โคนมที่เกิดใหม่ในรุ่นต่อๆ ไปในประชากรมีศักยภาพทางพันธุกรรมดีขึ้นและเป็นไปตามที่เราพึงปรารถนามากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ (ภาพที่ 2)
ภาพที่ 2 การพัฒนาศักยภาพทางพันธุกรรม
โดยทั่วไป การคัดเลือกและคัดทิ้งมีหลักการในการปฏิบัติไม่ยุ่งยากมากนัก เพียงแค่ตั้งวัตถุประสงค์ของการปรับปรุงพันธุ์ (ปรับปรุงลักษณะใดบ้าง กี่ลักษณะ ลักษณะไหนก่อนและหลัง และต้องการให้ลักษณะนั้นเป็นเช่นไรในรุ่นต่อๆ ไป เป็นต้น) มีเป้าหมายสำหรับการคัดเลือก-คัดทิ้ง (คัดเลือกในสัดส่วนเท่าไร คัดทิ้งในสัดส่วนเท่าไร) และดำเนินการตามนั้นก็พอ แต่ในทางปฏิบัติอาจไม่สามารถทำได้ง่ายเช่นนั้น เนื่องจากการคัดเลือกเพื่อการพัฒนาทางพันธุกรรมไม่ได้พิจารณาแต่เพียงความสามารถที่มองเห็นได้ ชั่งได้ ตวงได้ และวัดได้จากการแสดงออกภายนอกของโคนมที่จะคัดเลือกเท่านั้น (เพราะมีอิทธิพลของสภาพแวดล้อมและการจัดการฟาร์มที่แตกต่างกันแฝงอยู่) แต่จะพิจารณาคัดเลือกจากความสามารถที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมไปยังรุ่นลูก-หลานร่วมด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ คำถามที่มักเกิดขึ้นตามมาเสมอก็คือ เราจะทราบได้อย่างไรว่า“โคนมที่กำลังพิจารณาอยู่นั้นมีความสามารถที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมมากน้อยเพียงไรเมื่อเปรียบเทียบกับโคตัวอื่นๆ และการคัดเลือกที่กำลังดำเนินการนั้นแม่นยำเพียงไร” และจากความเป็นจริงที่ว่า “ไม่มีสัตว์ตัวใดมีคุณสมบัติดีเด่นครบสำหรับทุกๆ ลักษณะในตัวเอง” สัตว์แต่ละตัว (พันธุกรรมแต่ละชุด) จะมีข้อดีและข้อด้อยสำหรับลักษณะต่างๆ ที่ปรากฏร่วมกันเสมอ เช่น โคนมบางตัวให้นมดีแต่มีปัญหาเรื่องขา หรือโคนมบางตัวมีประสิทธิภาพการสืบพันธุ์ดีแต่ให้ผลผลิตปานกลาง เป็นต้น ดังนั้น ผู้ผลิตและเกษตรกรจำเป็นต้องกำหนดวัตถุประสงค์ที่จะปรับปรุงพันธุ์และเรียงลำดับความสำคัญของลักษณะที่จะปรับปรุงก่อนและหลังให้ชัดเจน การผสมพันธุ์เพื่อการพัฒนาศักยภาพทางพันธุกรรม ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงเพื่อให้โคนมเพศเมียตั้งท้อง แต่เพื่อให้สัตว์รุ่นลูกที่จะเกิดขึ้นใหม่ในภาพรวม (โดยเฉลี่ย) สามารถแสดงความสามารถทางพันธุกรรมออกมาได้ดีเด่นกว่ารุ่นพ่อ-แม่ ดังนั้น การผสมพันธุ์โดยนัยดังที่กล่าวมานี้จึง “กระทำเพียงในกลุ่มสัตว์ที่คัดเลือกไว้แล้วเท่านั้น” ไม่ใช่กระทำโดยใช้สัตว์ตัวใดก็ได้ และเนื่องจากการผสมพันธุ์เป็นการเปิดโอกาสให้พันธุกรรมดีของโคนมที่คัดเลือกมารวมตัวกันและแสดงผลทางพันธุกรรมออกมา ระบบการผสมพันธุ์ (mating system) ที่นำมาใช้ เช่น การผสมข้ามพันธุ์ ข้ามสายพันธุ์ ยกระดับสายเลือด รวมทั้งรูปแบบการจับคู่ผสมพันธุ์ระหว่างสัตว์แต่ละตัวจึงมีอิทธิพลต่อความสำเร็จในการพัฒนาทางพันธุกรรมดังกล่าวด้วยเช่นกัน ผลงานการศึกษาวิจัยพันธุกรรมโคนมในประเทศไทยบางฉบับยังชี้ให้เห็นว่า ภายใต้สภาพแวดล้อมของประเทศไทย “ความก้าวหน้าทางพันธุกรรมสำหรับลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจในโคนมรุ่นลูถึงรุ่นหลานนั้นผันแปรไปตามความสามารถทางพันธุกรรมของแม่พันธุ์ (Dam) มากกว่า พ่อพันธุ์ (Sire)” นั่นก็หมายความว่า “หากผู้ผลิตหรือเกษตรกรต้องการพัฒนาศักยภาพทางพันธุกรรมของโคนมภายในฟาร์มของตนเองก็สามารถทำได้ไม่ยากนัก” เพียงคัดเลือกโคนมเพศเมียที่มีความสามารถทางพันธุกรรมดีตามที่ต้องการมาจับคู่ผสมพันธุ์กับพ่อพันธุ์โคนมพันธุ์ดีที่คัดเลือกไว้แล้ว และคัดทิ้งโคนมเพศเมียที่มีความสามารถทางพันธุกรรมด้อยกว่าออกจากฝูง หรือไม่เปิดโอกาสให้พันธุกรรมที่ไม่ดีของพวกมันปรากฏในสัตว์รุ่นต่อๆ ไปในฝูงเท่านั้น
การเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนาศักยภาพทางพันธุกรรมของโคนมในประเทศไทยเพื่อการผลิตต้นทุนต่ำ
การพัฒนาความสามารถทางพันธุกรรมโคนมให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีทิศทางที่แน่นอนตามที่เราต้องการนั้น“ไม่สามารถทำได้โดยความรู้สึก” แต่จำเป็นต้องอาศัยการพินิจพิจารณา “ข้อมูลต่างๆ ของตัวสัตว์และที่เกี่ยวข้องกับตัวสัตว์” เพื่อให้สามารถคัดเลือกและผสมพันธุ์สัตว์ที่มีความสามารถทางพันธุกรรมดีจริงๆ ตามที่เราปรารถนาเท่านั้น ความถูกต้องและแม่นยำของข้อมูลที่นำมาใช้จึงมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาทางพันธุกรรมอย่างยิ่ง การตรียมความพร้อมในการเพิ่มศักยภาพทางพันธุกรรมโคนมเพื่อการผลิตต้นทุนต่ำนั้น สามารถทำได้ดังนี้
จัดเก็บและบันทึกข้อมูลและพันธุ์ประวัติโคนมให้สมบูรณ์ ถูกต้อง ต่อเนื่อง และเอื้อต่อการนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงปฏิบัติ
ข้อมูลมีบทบาทสำคัญต่อการคัดเลือก ผสมพันธุ์ และประเมินสถานการณ์ต่างๆ ในระบบการผลิต ข้อมูลจึงเปรียบเสมือนกุญแจสำคัญที่ช่วยให้การขับเคลื่อนระบบการผลิตต้นทุนต่ำให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ประเทศคู่ค้าเสรีที่ประเทศไทยได้จัดทำข้อตกลงซึ่งกันและกัน ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีการพัฒนาการผลิตสินค้าของของตนโดยใช้ข้อมูลระดับฟาร์มเป็นหลัก การดำเนินกิจกรรมและการวินิจฉัยปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศเหล่านั้นจึงสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากเรามองประเทศเหล่านั้นเป็นคู่แข่งทางการค้าที่สำคัญ เราจำเป็นต้องเร่งการเตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดเก็บข้อมูล (พันธุ์ประวัติและสมรรถภาพการแสดงออก) ของโคนมแต่ละตัวในประชากรความสมบูรณ์ ถูกต้อง ต่อเนื่อง และเอื้อต่อการนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงปฏิบัติของข้อมูลและพันธุ์ประวัติ มีบทบาทสำคัญต่อประสิทธิภาพในการนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ ข้อมูลที่ขาดความสมบูรณ์จะไม่สามารถตอบคำถามในประเด็นต่างๆ ได้อย่างครอบคลุมและชัดเจน และในบางครั้งข้อมูลที่ขาดความสมบูรณ์นั้นอาจไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เลยเช่นเดียวกับข้อมูลที่ขาดความถูกต้อง ความผิดพลาดของการจัดเก็บข้อมูลเกิดขึ้นได้เสมอ แต่หากการจัดเก็บข้อมูลนั้นไม่ได้เป็นการกระทำของผู้ที่มองเห็นหรือเข้าใจในความสำคัญของการจัดเก็บข้อมูลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในระบบการผลิตแล้วความผิดพลาดนั้นจะเกิดขึ้นได้มาก การนำข้อมูลที่ขาดความต่อเนื่องไปใช้ประโยชน์ก็จะก่อให้เกิดความลำเอียง (ไม่ยุติธรรม) และการจัดเก็บข้อมูลที่ไม่เอื้อต่อการนำไปใช้ประโยชน์นั้นก็จะทำให้การใช้ประโยชน์จากข้อมูลนั้นยุ่งยากและล่าช้า จนเป็นเหตุให้ผู้ผลิตหรือเกษตรกรเกิดความไม่สะดวกหรือสบายใจต่อการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านั้น ซึ่งในบางครั้งส่งผลกระทบต่อทัศนะคติในการจัดเก็บข้อมูล
ภาพที่ 3 โคนม 75% โฮลสไตน์ฟรีเชี่ยนกับการบันทึกข้อมูลที่สมบูรณ์
การจัดเก็บและบันทึกข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยไม่ได้เป็นข้อจำกัดของการปฏิบัติงาน ผู้ผลิตหรือเกษตรกรที่ยังไม่มีความพร้อมในด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์สามารถจัดเก็บข้อมูลในรูปเอกสาร และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ เช่นกัน ข้อมูลที่ควรจัดเก็บเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนาศักยภาพการผลิตต้นทุนต่ำนั้นประกอบไปด้วยข้อมูลอย่างน้อย 3 กลุ่ม ได้แก่
- ข้อมูลพันธุ์ประวัติ ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบไปด้วย
- หมายเลขประจำตัวโคนม
- วันเดือนปีเกิด
- องค์ประกอบทางพันธุกรรมหรือระดับสายเลือดโดยสมบูรณ์ของโคนม
- หมายเลขพ่อของโคนม
- หมายเลขแม่ของโคนม
- สมรรถภาพการแสดงออกสำหรับลักษณะต่างๆ (เช่น การให้ผลผลิต การสืบพันธุ์ และการเจริญเติบโต เป็นต้น) ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบไปด้วย
- วันเดือนปีที่จัดเก็บข้อมูล หรือวันเดือนปีที่กระทำกับตัวสัตว์
- ค่าของข้อมูลที่จัดเก็บ เช่น ปริมาณน้ำนม การผสมเทียม เป็นต้น
- การบริหารจัดการ
- วันเดือนปีที่ดำเนินการ
- ลักษณะการดำเนินงาน เช่น การจัดซื้อวัตถุดิบ การขายผลผลิต
- มูลค่า หรือค่าของงานที่ดำเนินการ เช่น ราคาวัตถุดิบที่จัดซื้อ ผลมูลค่าของผลผลผลิตที่จำหน่ายได้ มูลค่าของแรงงานที่จ่ายออกไป และอาจรวมทั้งค่าเสื่อมต่างๆ ในระบบการผลิต เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บข้อมูลจัดเป็นต้นทุนชนิดหนึ่งเนื่องจากการจัดเก็บแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นเสมอไม่ว่าจะเป็นค่าแรงงาน ค่าเสียโอกาสในเรื่องเวลาที่จะนำไปใช้ปฏิบัติงานประเภทอื่น ค่าวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดเก็บข้อมูล เป็นต้น ดังนั้น ผู้ผลิตหรือเกษตรกรจำเป็นต้องมี “การวางแผนในการจัดเก็บข้อมูลและใช้ประโยชน์จากข้อมูล” เพื่อให้การดำเนินงานดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแต่ละฟาร์มไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน
สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปรับปรุงพันธุ์ การคัดเลือกพันธุ์ การผสมพันธุ์ และการประเมินค่าทางพันธุกรรม
การปรับปรุงพันธุ์
การปรับปรุงพันธุ์ เป็น “การจัดการทางพันธุกรรมเพื่อให้สัตว์รุ่นลูก (โดยเฉลี่ย) สามารถแสดงลักษณะที่พึงปรารถนาดีกว่าค่าเฉลี่ยของสัตว์รุ่นพ่อ-แม่” การปรับปรุงพันธุ์ไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ กับสัตว์รุ่นปัจจุบันได้ (เพราะพันธุกรรมนั้นก่อเกิดขึ้นแล้ว) การจัดการทางพันธุกรรมนั้นประกอบไปด้วยการคัดเลือก (เลือกพันธุกรรมที่ดีที่พึงปรารถนา) และการผสมพันธุ์ (นำพันธุกรรมที่ดีที่พึงปรารถนามาจับคู่กันเพื่อเปิดโอกาสให้พันธุกรรมเหล่านั้นแสดงตัวออกมาตามที่เราต้องการ) หากขาดการจัดการทางพันธุกรรม (ไม่มีการคัดเลือกและผสมพันธุ์ที่ถูกต้องและเหมาะสม) โอกาสที่สัตว์รุ่นลูกจะมีศักยภาพทางพันธุกรรมดีกว่ารุ่นพ่อ-แม่คงเป็นไปได้ยากการปรับปรุงพันธุ์นั้นหวังผลลัพธ์ที่จะปรากฏในสัตว์รุ่นลูก ความรวดเร็วในการทราบผลลัพธ์ของการปรับปรุงพันธุ์จึงขึ้นอยู่กับระยะห่างระหว่างรุ่น (generation interval) ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของสัตว์ที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์นั้นๆ ดังนั้น ในการปรับปรุงพันธุ์จำเป็นต้องมีการวางแผนการดำเนินงานและประเมินผลที่ชัดเจน รัดกุม และยุติธรรม และโดยทั่วไปแล้ว “วัตถุประสงค์ของการปรับปรุงพันธุ์มักจะไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา” ด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม เนื่องจาก การกระทำดังกล่าวจะก่อให้เกิดความล่าช้าในการพัฒนาทางพันธุกรรม และยังก่อปัญหาทำให้ไม่สามารถควบคุมความหลากหลายทางพันธุกรรมของโคนมที่เกิดใหม่ในระบบการผลิตด้วยเช่นกัน แต่ถ้าจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของการปรับปรุงพันธุ์จริงๆ การเปลี่ยนแปลงนั้นก็ควรเป็นผลมาจากการพิจารณาอย่างรอบคอบ และได้ไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนแล้วเท่านั้น
ภาพที่ 4 การปรับปรุงพันธุ์สัตว์
การคัดเลือกพันธุ์
การคัดเลือกสัตว์พ่อ-แม่พันธุ์โคนมเพื่อการพัฒนาศักยภาพทางพันธุกรรมนั้น ไม่สามารถพิจารณาแต่เพียงลักษณะที่ปรากฏ (Phenotypic performance) ในตัวสัตว์แต่ละตัวที่จะคัดเลือกเท่านั้น เนื่องจากลักษณะที่เห็นเหล่านั้นยังมีส่วนที่เป็นผลมาจากอิทธิพลอันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมและการจัดการอยู่ (ความมากน้อยของอิทธิพลดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับลักษณะที่พิจารณาในประชากรขณะนั้น) ข้อมูลที่จะนำมาใช้สำหรับการพิจารณาคัดเลือกพ่อ-แม่พันธุ์นั้น หากเป็นไปได้ ควรมาจากข้อมูลหลายแหล่ง เช่น เครือญาติ บรรพบุรุษ และ/หรือลูก-หลานของสัตว์แต่ละตัวที่จะคัดเลือก ประสิทธิภาพของการคัดเลือกนั้นขึ้นอยู่กับความแม่นยำในการคัดเลือกสัตว์จากการเรียงลำดับความสามารถทางพันธุกรรม (genetic ability) ของสัตว์แต่ละตัวที่จะคัดเลือกจากที่ดีที่สุดไปจนถึงตัวที่ด้อยที่สุด การพิจารณาข้อมูลความสามารถทางพันธุกรรมที่ทำนายค่าได้ (EBV; Estimated Breeding Value หรือ EPD; Expected Progeny Difference) จากสัตว์ที่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติทุกตัว “ในประชากรและภายใต้สภาพแวดล้อมเดียวกัน” จะมีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับการคัดเลือกสัตว์พันธุ์ อย่างไรก็ตาม การได้มาซึ่งค่าดังกล่าวยังมีข้อจำกัดหลายประการในปัจจุบัน เช่น จำนวนข้อมูลเครือญาติ เทคนิคการวิเคราะห์ค่าทางสถิติ และแบบหุ่นจำลองทางสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ค่าเหล่านั้นสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการคัดเลือกสัตว์พ่อแม่พันธุ์ คือ ความเข้าใจในความเป็นจริงที่ว่า “สัตว์ที่จะคัดเลือกไม่ว่าจะมาจากพันธุ์ใด สายพันธุ์ใด ประเทศใด หรือบริษัทไหน ล้วนมีความสามารถทางพันธุกรรมที่ดีและไม่ดีคละกันทั้งสิ้น”การพิจารณาคัดเลือกสัตว์พ่อแม่พันธุ์จึงจำเป็นต้องพิจารณา “สัตว์เป็นรายตัว” โดยให้ดูว่าพันธุกรรมของสัตว์ตัวใดดีที่สุดหรือเหมาะสมที่สุดที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาพันธุกรรมในระบบการผลิตของเรา การพิจารณาแหล่งที่มาทางพันธุกรรม (พันธุ์ สายพันธุ์ ประเทศ หรือบริษัท) เป็นเพียงการพิจารณาค่าเฉลี่ยหรือโอกาสที่จะได้พันธุกรรมที่มีความสามารถเป็นเช่นไรเท่านั้น
การผสมพันธุ์
การผสมพันธุ์เป็นการเปิดโอกาสให้พันธุกรรมดีของสัตว์พ่อแม่พันธุ์ที่คัดเลือกมารวมตัวกันและแสดงอิทธิพลของพันธุกรรมเหล่านั้นออกมา การผสมพันธุ์เพียงอย่างเดียวซึ่งกระทำในกลุ่มสัตว์ที่ไม่ได้คัดเลือกนั้น ไม่สามารถพัฒนาความสามารถทางพันธุกรรมของสัตว์รุ่นลูกให้ดีขึ้นได้ ความเหมือน (homogenous genetic) และความต่าง (heterogenous genetics) ของการเข้าคู่กันระหว่างพันธุกรรมที่มาจากสัตว์พ่อและแม่พันธุ์ที่นำมาผสมพันธุ์กัน มีบทบาทสำคัญต่อการแสดงออกทางพันธุกรรม (genotype) และที่แสดงออกภายนอก (phenotype) ดังนั้น ผู้ผลิตและเกษตรกรจึงควรหาความรู้ในเรื่องระบบการผสมพันธุ์ แนวทางการปฏิบัติ และข้อดีและข้อเสียของรูปแบบการผสมพันธุ์ต่างๆ เพื่อจะได้นำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดด้วยรูปแบบการผสมพันธุ์ต่างๆ ที่ได้รับความนิยมและปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบัน (การผสมพันธุ์โดยพิจารณาจากสมรรถภาพ และความสัมพันธ์ทางเครือญาติของสัตว์คู่ผสมพันธุ์) มีข้อดีและข้อด้อยแตกต่างกัน การเลือกใช้รูปแบบการผสมพันธุ์ในระบบการผลิตจึงจำเป็นต้องได้รับการพิจารณาควบคู่ไปกับ 1) วัตถุประสงค์ของการพัฒนาทางพันธุกรรม (การปรับปรุงพันธุ์) 2) ลักษณะและจำนวนของโคนมที่ครอบครอง และ 3) สภาพและความพร้อมในการจัดการฟาร์มและสิ่งแวดล้อมภายในกระบวนการผลิต
การประเมินค่าทางพันธุกรรม
การประเมินค่าทางพันธุกรรมหรือความสามารถทางพันธุกรรมสำหรับสัตว์แต่ละตัวมีประโยชน์อย่างน้อย 2 ประการ คือ 1) ใช้เพื่อการคัดเลือกสัตว์ที่มีความสามารถทางพันธุกรรมดี 2) ใช้เพื่อประเมินผลสำเร็จหรือความก้าวหน้าการพัฒนาศักยภาพทางพันธุกรรม การประเมินค่าทางพันธุกรรมอาศัยความรู้ทางสถิติและคณิตศาสตร์ขั้นสูงในการคำนวณ ด้วยเหตุนี้ การประเมินค่าทางพันธุกรรมในเชิงปฏิบัติจึงจำกัดอยู่ในกลุ่มนักวิชาการหรือเจ้าหน้าที่ที่มีความสามารถในการดำเนินการเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม การทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการประเมินค่าทางพันธุกรรมของผู้ผลิตและเกษตรกรจะช่วยให้รู้เท่าทันและเลือกใช้ประโยชน์จากการประเมินค่าทางพันธุกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพในการประเมินค่าทางพันธุกรรมจะให้ผลลัพธ์ออกมาอย่างน้อย 2 ประการ ได้แก่ 1) องค์ประกอบของความแปรปรวน สำหรับการนำไปใช้ในการพิจารณาภาพรวมของประชากรและนำไปใช้ในการคำนวณค่าพารามิเตอร์ทางพันธุกรรม (อัตราพันธุกรรม สหสัมพันธ์ร่วมทางพันธุกรรม เป็นต้น) และ 2) ค่าทำนายความสามารถทางพันธุกรรม (EBV) และความคลาดเคลื่อนของการทำนายค่านั้นๆ สำหรับการนำไปใช้ในการคัดเลือกสัตว์พ่อ-แม่พันธุ์ นอกจากนี้ “ค่าความสามารถทางพันธุกรรม (EBV) สำหรับสัตว์แต่ละตัวที่ยู่ในประชากรที่แตกต่างกัน (มีค่าเฉลี่ยและความแปรปรวนที่แตกต่างกัน) จะไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้” เช่น ค่าความสามารถทางพันธุกรรมของพ่อพันธุ์ที่มาจากต่างบริษัท ต่างประเทศ หรือต่างพันธุ์กันเป็นต้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะในการคำนวณค่าความสามารถทางพันธุกรรมนั้นจะให้ค่าที่เป็นบวก (+) และลบ (-) ออกมาสำหรับสัตว์แต่ละตัวที่ถูกประเมิน ค่าบวกและลบนี้แสดงถึงความสามารถที่เหนือกว่า (+) หรือด้อยกว่า (-) ค่าเฉลี่ยของประชากรสัตว์ที่นำมาวิเคราะห์ หากประชากรต่างกันย่อมมีค่าเฉลี่ยและความแปรปรวนแตกต่างกัน ดังนั้น การนำสัตว์ต่างประชากรกันมาเปรียบเทียบกันจึงไม่สามารถทำได้อย่างยุติธรรม
ร่วมทำงานเป็นทีมในรูปของสมาคม หรือสหกรณ์
เนื่องจากฟาร์มเลี้ยงโคนมในประเทศไทยส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก-ปานกลาง การรวมกลุ่มและแบ่งปันข้อมูลซึ่งกันและกันถึงประสิทธิภาพของพ่อพันธุ์โคนมและความน่าเชื่อถือของแหล่งพันธุกรรมโคนมที่นำมาใช้ สามารถช่วยให้การพัฒนาศักยภาพทางพันธุกรรมในภาพรวมทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เสียเวลา และรวดเร็ว
สรุป
นอกเหนือจากความสามารถของผู้ผลิตหรือเกษตรกรในการสรรหาและโอกาสในการได้มาซึ่งวัตถุดิบ (Input) ที่มีคุณภาพและราคาเหมาะสม และการบริหารจัดการกิจกรรมต่างๆ ในกระบวนการผลิต (Process) ให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ แล้วพันธุกรรมโคนมที่เกษตรใช้ในระบบการผลิตยังมีบทบาทสำคัญต่อการผลิตต้นทุนต่ำ และด้วยความหลากหลายทางพันธุกรรมโคนมที่เลี้ยงอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบัน ผู้ผลิตและเกษตรกรมีโอกาสพัฒนาศักยภาพทางพันธุกรรมโคนมของตนให้เกิดความก้าวหน้า (genetic progress) ได้มากกว่าความสามารถที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้มาก เพียงแต่ ผู้ผลิตและเกษตรกรจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมและดำเนินการในการจัดเก็บและบันทึกข้อมูลและพันธุ์ประวัติโคนมให้สมบูรณ์ ถูกต้อง ต่อเนื่อง และเอื้อต่อการนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงปฏิบัติ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปรับปรุงพันธุ์ การคัดเลือกพันธุ์ การผสมพันธุ์ และการประเมินค่าทางพันธุกรรม และร่วมทำงานเป็นทีมในรูปของสมาคมหรือสหกรณ์ เพื่อให้การผลิตโคนมต้นทุนต่ำดังกล่าวสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและรองรับการแข่งขันทางการค้าเสรีได้ทันต่อสภาวการณ