ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาศักยภาพทางพันธุกรรมสำหรับการให้ผลผลิตน้ำนม
ของโคนมระดับฟาร์มในเขตภาคกลางของประเทศไทย

มัทนียา สารกุล, ศกร คุณวุฒิฤทธิรณ, ธนาทิพย์ สุวรรณโสภี,Mauricio A. Elzo, ธรรมนูญ ทองประไพ,และ อภิญญา หิรัญวงษ์

“ภาคกลาง” เป็นพื้นที่ซึ่งมีการเลี้ยงโคนมหนาแน่นมากที่สุดในประเทศไทย โดยในปี พ.ศ. 2552 พื้นที่ดังกล่าวมีการเลี้ยงโคนม รวมทั้งสิ้น 332,898 ตัว (69% ของโคนมทั้งหมด) เป็นแม่โครีดนมจำนวน 139,175 ตัว (68% ของโครีดนมทั้งหมด) ซึ่งอยู่ภายใต้การเลี้ยงดูของเกษตรกรจำนวน 12,240 ราย (69% ของเกษตรกรทั้งหมด) และสามารถให้ผลผลิตน้ำนมดิบได้ประมาณ 1,371 ตันต่อวัน (65% ของปริมาณน้ำนมดิบที่ผลิตได้ทั้งหมด; กรมปศุสัตว์, 2552)

โดยในการพัฒนาศักยภาพการให้ผลผลิตน้ำนมของโคนมในระดับฟาร์มนั้น เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปรับปรุง “การจัดการฟาร์ม” ควบคู่ไปกับการปรับปรุง “พันธุกรรม” โดยในการผลิตลูกโคนมทดแทนนั้น เกษตรกรส่วนใหญ่มักพิจารณาจาก “ความสามารถในการให้ผลิตน้ำนม” ของพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์โคนมเป็นหลัก รองลงมาจึงเป็น “ลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น ประสิทธิภาพการสืบพันธุ์ รูปร่าง และสุขภาพของโคนม เป็นต้น” แต่อย่างไรก็ตาม ผลงานวิจัยหลายฉบับก็ยังชี้ให้เห็นสอดคล้องกันว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน แนวโน้มในการพัฒนาศักยภาพการผลิตและทางพันธุกรรมสำหรับการให้ผลผลิตน้ำนมของโคนมที่ให้ผลผลิตในฟาร์มของเกษตรกร ในแต่ละปีมีการเปลี่ยนแปลงไม่สูงมากนัก (องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย, 2550; Koonawootrittriron et al., 2009) นอกจากนี้ ความสามารถทางพันธุกรรมสำหรับการให้ผลผลิตน้ำนมของโครีดนมยังมีความสัมพันธ์กับความสามารถทางพันธุกรรมของแม่พันธุ์ (แม่ของโครีดนม) ที่ถูกเลี้ยงดูในฟาร์มของเกษตรกรมากกว่าพ่อพันธุ์ (น้ำเชื้อพันธุ์) ที่เกษตรกรนำมาผสมพันธุ์ให้กับแม่โคนมเหล่านั้น (Koonawootrittriron et al., 2009) ซึ่งลักษณะเช่นนี้สื่อให้เห็นถึง “สภาพปัญหา หรือความไม่สัมฤทธิ์ผล ในการคัดเลือกและจับคู่ผสมพันธุ์ระหว่างพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์โคนมในระดับฟาร์มเกษตรกร” ดังนั้น เพื่อให้ทราบถึงข้อมูลที่จะนำมาใช้ในการพิจารณาและแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) จึงได้ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยฟลอริดา (สหรัฐอเมริกา) ทำการศึกษาวิจัย เพื่อจำแนกปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาศักยภาพทางพันธุกรรมสำหรับการให้ผลผลิตน้ำนมของโคนมระดับฟาร์มของเกษตรกรในเขตภาคกลางของประเทศไทย

วิธีการศึกษา

ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ประกอบด้วย ผลผลิตน้ำนมรวมที่ 305 วัน และพันธุ์ประวัติของโคนม จำนวน 1,921 ตัว ที่คลอดลูกครั้งแรกระหว่างปี พ.ศ. 2534 ถึง พ.ศ. 2550 ในฟาร์มเกษตรกร 161 ราย โดยข้อมูลดังกล่าวถูกนำมาใช้ “ทำนายคุณค่าการผสมพันธุ์ (EBV) ของโคนมแต่ละตัว” และ “ประมาณค่าแนวโน้มทางพันธุกรรม (genetic trend) ของโคนมทั้งในภาพรวมและจำแนกรายฟาร์ม” เพื่อนำมาใช้ใน “การจำแนกกลุ่มฟาร์ม (farm groups) ตามการพัฒนาศักยภาพทางพันธุกรรมของโคนม” ซึ่งจำแนกได้เป็น 3 กลุ่มฟาร์ม ได้แก่ 1) กลุ่มฟาร์มที่มีแนวโน้มทางพันธุกรรมเป็นบวก (40%; มีความก้าวหน้า) 2) กลุ่มฟาร์มที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม (35%; ไม่มีความก้าวหน้า) และ 3) กลุ่มฟาร์มที่มีแนวโน้มทางพันธุกรรมเป็นลบ (25%; มีพันธุกรรมถดถอย) จากนั้น “แบบสอบถาม” ที่มีชุดคำถามเกี่ยวกับ ชื่อและที่อยู่ของเกษตรกร ระดับการศึกษา ประสบการณ์ ขนาดของฟาร์ม การจัดการฟาร์ม ประเภทและจำนวนแรงงาน แหล่งความรู้ แหล่งที่มาของพ่อพันธุ์ และการจดบันทึกข้อมูลฟาร์ม จำนวน 161 ชุด ถูกส่งไปยังเกษตรกรที่เป็นผู้เลี้ยงดูโคนมทั้งหมดในชุดข้อมูล ทั้งนี้ เนื่องจากการเลิกเลี้ยงโคนม เปลี่ยนแปลงที่อยู่ และไม่สะดวกในการให้ข้อมูล แบบสอบถามที่ถูกส่งกลับมาจากเกษตรกร จึงมีเพียง 55 ชุด (34% ของชุดข้อมูลเดิม)

ทั้งนี้ ประสบการณ์ของเกษตรกรในแบบสอบถามนั้น พิจารณาจากปีที่เริ่มต้นเลี้ยงโคนมจนถึงปัจจุบัน ระดับการศึกษาของเกษตรกรพิจารณาจากระดับการศึกษาสูงสุดของเกษตรกร โดยแบ่งเป็นระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา ปริญญาตรี และสูงกว่าปริญญาตรี ขนาดฟาร์มจำแนกตามจำนวนโครีดนม แบ่งเป็น ฟาร์มขนาดเล็ก (แม่โครีดนมน้อยกว่า 9 ตัว) ฟาร์มขนาดกลาง (แม่โครีดนม 10 ถึง 19 ตัว) และฟาร์มขนาดใหญ่ (แม่โครีดมากกว่า 19 ตัว) แรงงานนั้นพิจารณาตามประเภทของผู้ร่วมปฏิบัติงานภายในฟาร์มโดยแบ่งเป็น แรงงานภายในครอบครัว แรงงานจากการจ้าง และแรงงานภายในครอบครัวและจากการจ้างแรงงานภายนอก แหล่งความรู้ของเกษตรกรถูกจำแนกเป็นวารสาร นิตยสาร หนังสือ การพูดคุยกับเกษตรกรรายอื่น สหกรณ์โคนมหรือศูนย์รวมนม หน่วยงานรัฐ (อ.ส.ค. และกรมปศุสัตว์) และที่ปรึกษาประจำฟาร์ม แหล่งที่มาของพ่อพันธุ์จำแนกเป็นต่างประเทศและภายในประเทศ ส่วนระบบการจดบันทึกข้อมูลฟาร์มนั้น จำแนกเป็นไม่มีการจดบันทึกและมีการจดบันทึก ตามลำดับ (Rhone et al., 2008) โดยข้อมูลจากแบบสอบถามที่รวบรวมได้จากเกษตรกรทั้งหมด ถูกนำมาตรวจสอบความสมบูรณ์และความถูกต้องก่อนนำมาจัดหมวดหมู่ตามชุดคำถาม พร้อมทั้งกำหนดรหัสเป็นตัวเลขเพื่อใช้ในการแปลความหมายและประมวลผลทางสถิติ จากนั้นจึงนำข้อมูลดังกล่าวมารวมเข้ากับชุดข้อมูลความสามารถทางพันธุกรรมของโคนมที่ให้ผลผลิตน้ำนมครั้งแรก เพื่อศึกษาความแตกต่างของปัจจัย (ระดับการศึกษา ประสบการณ์ ขนาดของฟาร์ม การจัดการฟาร์ม ประเภทและจำนวนแรงงาน แหล่งความรู้ แหล่งที่มาของพ่อพันธุ์ และการจดบันทึกข้อมูล) ระหว่างกลุ่มฟาร์มที่มีความก้าวหน้าทางพันธุกรรม ไม่มีความก้าวหน้า และถดถอย ตามลำดับ ด้วยวิธีการทดสอบไคสแควร์ (Chi-Square) ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05

ผลการศึกษา

ประชากรโคนมในประชากรที่ศึกษา มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงความสามารถในการให้ผลผลิตน้ำนมรวมที่ 305 วัน (ภาพที่1) มีค่า 11.96 กิโลกรัมต่อปี และมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงความสามารถทางพันธุกรรม มีค่า 0.11 กิโลกรัมต่อปี โดยในแต่ละปีโคนมแต่ละตัวมีความสามารถในการให้ผลผลิตน้ำนมรวมที่ 305 วัน เฉลี่ยอยู่ในช่วง 3,528.27 กิโลกรัม (พ.ศ. 2536) ถึง 4,423.80 กิโลกรัม (พ.ศ. 2543) และความสามารถทางพันธุกรรมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในช่วง 54.97 กิโลกรัม (พ.ศ. 2534) ถึง 132.21 กิโลกรัม (พ.ศ. 2536) ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม สำหรับการให้ผลผลิตน้ำนมรวมที่ 305 วัน ของโคนมที่ให้ผลผลิตในแต่ละฟาร์ม (รายฟาร์ม) พบว่า มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงอยู่ในช่วง -173.68 ถึง 230.79 กิโลกรัมต่อปี โดยฟาร์มส่วนใหญ่ (40%) มีแนวโน้มทางพันธุกรรมเป็นบวก (2.61 ถึง 230.79 กิโลกรัมต่อปี) รองลงมาได้แก่ ฟาร์มที่มีแนวโน้มทางพันธุกรรมเป็นลบ (35%;  -173.68 ถึง -0.62 กิโลกรัมต่อปี) และฟาร์มที่ไม่มีความก้าวหน้าทางพันธุกรรม (25%; -0.52 ถึง 0.32 กิโลกรัมต่อปี)

 

ภาพที่ 1 แนวโน้มความสามารถทางพันธุกรรมและความสามารถที่ปรากฏ สำหรับการให้ผลผลิตน้ำนมรวมที่ 305 วัน
ของโครีดนมที่คลอดลูกครั้งแรกในช่วงปี พ.ศ. 2534 ถึง พ.ศ. 2551

ทั้งนี้ เกษตรกรทั้ง 3 กลุ่มฟาร์ม (ฟาร์มมีแนวโน้มทางพันธุกรรมเป็นบวก ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม และมีแนวโน้มทางพันธุกรรมเป็นลบ) ไม่มีความแตกต่างกัน (P>0.05) ทั้งในเรื่องของ ระดับการศึกษา ประสบการณ์ ขนาดของฟาร์ม จำนวนและประเภทแรงงาน แหล่งความรู้ แหล่งที่มาของพ่อพันธุ์ และ ระบบการบันทึกข้อมูล โดยเกษตรกรในกลุ่มฟาร์มไม่มีความก้าวหน้าทางพันธุกรรมมีประสบการณ์ในการเลี้ยงโคนม จำนวนโครีดนม และจำนวนแรงงานที่ใช้ในการผลิตโคนมเฉลี่ยมากที่สุด รองลงมาได้แก่ ฟาร์มที่มีแนวโน้มทางพันธุกรรมเป็นลบ และฟาร์มที่แนวโน้มทางพันธุกรรมเป็นบวก ตามลำดับ (ตารางที่ 1)

ตารางที่ 1 ค่าเฉลี่ยลีสแควร์ และความคลาดเคลื่อนมาตรฐานสำหรับประสบการณ์ในการเลี้ยงโคนม จำนวนแม่โครีดนม และจำนวนแรงงานในการเลี้ยงโคนมจำแนกตามกลุ่มฟาร์ม

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะไม่พบความแตกต่างของปัจจัยที่ศึกษา แต่สังเกตได้ว่า (ตารางที่ 2) ในกลุ่มฟาร์มที่ไม่มีความก้าวหน้าทางพันธุกรรมนั้น เกษตรกรส่วนใหญ่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี (50%) ในขณะที่กลุ่มฟาร์ม อื่นๆ นั้น (กลุ่มฟาร์มที่มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมเป็นบวก และเป็นลบ) เกษตรกรส่วนใหญ่จบการศึกษาในระดับประถมศึกษา (67% และ 71% ตามลำดับ) ลักษณะเช่นนี้คล้ายคลึงกับระบบการจดบันทึกข้อมูล ซึ่งกลุ่มฟาร์มที่ไม่มีความก้าวหน้าทางพันธุกรรมนั้น เกษตรกรส่วนใหญ่มีการจดบันทึกข้อมูลฟาร์ม (63%) ส่วนกลุ่มฟาร์มอื่นๆ นั้น (กลุ่มฟาร์มที่มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมเป็นบวกและเป็นลบ) เกษตรกรส่วนใหญ่กลับไม่มีการจดบันทึกข้อมูล (78% และ 71% ตามลำดับ) 

ตารางที่ 2 จำนวนและเปอร์เซ็นต์ของฟาร์ม สำหรับระดับการศึกษา ขนาดของฟาร์ม ชนิดของแรงงานแหล่งความรู้ แหล่งที่มาของพ่อพันธุ์ และระบบการจดบันทึกข้อมูล จำแนกตามกลุ่มฟาร์ม

นอกจากนี้ข้อมูลจากแบบสอบถาม ยังชี้ให้เห็นว่าเกษตรกรทั้งใน 3 กลุ่มฟาร์ม (แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมเป็นบวก ลบ และไม่มีการเปลี่ยนแปลง) ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่มีฟาร์มโคนมขนาดใหญ่ (75%, 69% และ 67% ตามลำดับ) ใช้แรงงานของสมาชิกภายในครอบครัวเป็นแรงงานหลักในการผลิตโคนม (76%, 57% และ 88% ตามลำดับ) ได้รับความรู้จากวารสารหรือหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการผลิตโคนม (44%, 50% และ 64% ตามลำดับ) และนิยมใช้พ่อพันธุ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศในการผสมพันธุ์ให้กับแม่โคนมที่ตนเองเลี้ยงดูอยู่ในฟาร์ม (64%; 78% และ62%) ซึ่งลักษณะดังกล่าวใกล้เคียงกับรายงานการศึกษา ในเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของประเทศไทยหลายฉบับ (ชาญชัย, 2530; กรองแก้ว, 2539; ณัฐพงษ์, 2544; มัทนียา และคณะ, 2551; Rhone et al., 2007) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่มีพื้นฐานความรู้และการบริหารจัดการฟาร์มที่ไม่แตกต่างกันมากนัก 

ผลการศึกษาในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ในการพัฒนาศักยภาพทางพันธุกรรมสำหรับการให้ผลผลิตน้ำนมรวมที่ 305 วัน ของโครีดนมที่ถูกเลี้ยงดูในแต่ละฟาร์มของเกษตรกรนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับระดับการศึกษา ประสบการณ์ ขนาดของฟาร์ม จำนวนและประเภทแรงงาน แหล่งความรู้ แหล่งที่มาของพ่อพันธุ์ และระบบการบันทึกข้อมูล แต่อาจจะขึ้นอยู่กับ “แนวทางการปฏิบัติในการคัดเลือก และจับคู่ผสมพันธุ์ระหว่างพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์โคนมของเกษตรกรแต่ละราย ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง” นอกจากนี้แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่เกิดขึ้นในภาพรวมที่มีค่าต่ำ (เปลี่ยนแปลงไม่มากนัก; 0.11 กก./ปี) เช่นนี้ ยังคงสะท้อนให้เห็นถึง ความไม่สัมฤทธิ์ผลในการคัดเลือกพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์โคนมที่เหมาะสมในระดับฟาร์มของเกษตรกรรวมทั้งแนวทางการปฏิบัติในการคัดเลือกและจับคู่ผสมพันธุ์โคนมของเกษตรกรยังคงมีปัญหาบางประการ ดังนั้น เพื่อให้การพัฒนาศักยภาพการผลิตโคนมในระดับฟาร์มเกษตรกรเป็นได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำในการคัดเลือกและจับคู่ผสมพันธุ์ระหว่างพ่อแม่พันธุ์โคนมเพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิต สำหรับลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจในเชิงปฏิบัตินั้น “เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมยังคงจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนความรู้ ข้อมูล และเทคโนโลยีที่จะสามารถช่วยให้พวกเขาสามารถตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ จริงจังและต่อเนื่อง” มิฉะนั้น การลดต้นทุนการผลิตเพื่อการแข่งขันในเชิงธุรกิจของเกษตรกร อาจทำได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ

สรุป

ประชากรโคนมในประชากรที่ศึกษา มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมสำหรับ MY305 ในภาพรวม 0.11 กิโลกรัมต่อปี ฟาร์มส่วนใหญ่ (40%) มีแนวโน้มทางพันธุกรรมเป็นบวก (2.6 ถึง 230.8 กก/ปี) รองลงมาได้แก่ ฟาร์มที่มีแนวโน้มทางพันธุกรรมเป็นลบ (35%; -0.6 ถึง -173.7 กก/ปี) และไม่มีความก้าวหน้าทางพันธุกรรม (25%; -0.5 ถึง 0.3 กก/ปี) เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมทั้งสามกลุ่มฟาร์มไม่มีความแตกต่างกัน ทั้งในเรื่องของ ระดับการศึกษา ประสบการณ์ ขนาดของฟาร์ม แหล่งความรู้ จำนวนและประเภทของแรงงาน แหล่งที่มาของพ่อพันธุ์ และระบบการบันทึกข้อมูลฟาร์ม ดังนั้น ความสามารถของเกษตรกรในการคัดเลือกพ่อพันธุ์โคนมและแม่พันธุ์โคนมทดแทนที่เหมาะสมจึงไม่มีความสัมพันธ์กับปัจจัยต่างๆ ดังกล่าว

กิตติกรรมประกาศ

การศึกษาวิจัยในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย กษ(ด) 18.52 ที่ได้รับการสนับสนุนโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะวิจัยขอขอบคุณองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย สำหรับความช่วยเหลือและข้อแนะนำในการจัดเก็บข้อมูล และเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมทุกท่านสำหรับการให้ความร่วมมือในการศึกษาวิจัย

เอกสารอ้างอิง

กรมปศุสัตว์.  2552.  ข้อมูลจำนวนปศุสัตว์ในประเทศไทยประจำปี 2552. แหล่งที่มา: http://www.dld.go.th/ict/stat_web/yearly/yearly52/index52.html, 24 พฤศจิกายน 2552.

กรองแก้ว บริสุทธิ์สวัสดิ์.  2539.  ปัจจัยที่มีผลต่อการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตของผู้เลี้ยงโคนมในสหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี. วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

ชาญชัย จันทร์เชื้อ.  2530.  การใช้เทคโนโลยีในการเลี้ยงโคนมของสมาชิกสหกรณ์โคนมอยุธยา  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

ณัฐพงศ์ ศุภลักษณ์.  2544.  การใช้เทคโนโลยีเพื่อการเพิ่มขีดความสามารถการผลิตน้ำนมของสมาชิกสหกรณ์โคนมมวกเหล็ก.  วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

มัทนียา สารกุล ศกร คุณวุฒิฤทธิรณ ธนาทิพย์ สุวรรณโสภี อภิญญา หิรัญวงษ์ และ ธรรมนูญ ทองประไพ.  2551.  สถานภาพและทัศนคติสำหรับการผลิตและคัดเลือกพ่อพันธุ์โคนม ของเกษตรกรในประเทศไทย (พ.ศ. 2551) น. 174-181. ใน การประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 47 (สาขาสัตว์ และสัตวแพทย์ศาสตร์) 17 – 21 มีนาคม 2551, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ.

องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย.  2550.  ค่าการผสมพันธุ์โคนม 2550.  องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. 56 น.

Koonawootrittriron, S., M.A. Elzo, and T. Thongprapi.  2009.  Genetic trends in a Holstein × other breeds multibreed dairy population in Central Thailand. Livest. Sci.  122: 186-192.

Rhone, J.A., S. Koonawootrittriron and M.A. Elzo.  2007.  A survey of decision making practices, educational experiences, and economic performance of two dairy farm populations in Central Thailand.  Trop. Anim. Health Prod. 40: 475-482.

Rhone, J.A., S. Koonawootrittriron, and M.A. Elzo.  2008.  Record keeping, genetic selection, educational experience and farm management effects on average milk yield per cow, milk fat percentage, bacterial score and bulk tank somatic cell count of dairy farms in the Central region of Thailand. Trop. Anim. Health Prod. 40:627-636.