ที่มา: วารสารโคนม ปีที่ 18 ฉบับที่ 1
ผมมีโอกาสได้ออกไปตระเวนตามสหกรณ์ไทย-เดนมาร์คในเขตภาคกลางภายแห่ง รวมถึงได้พบปะพูดคุยกับเพื่อนพนักงาน อ.ส.ค. หลายคน ทำให้ได้ทราบว่าได้มีข่าวลือออกไปในหมู่พนักงาน และเกษตรกรผู้สนใจเรื่องพ่อพันธุ์ของ อ.ส.ค. ว่าพ่อพันธุ์ชื่อดังของ อ.ส.ค. ชื่อเฟิร์สท (ตัวที่น้ำเชื้อแพงกว่าใครเพื่อนนั่นแหละครับ) ตายเสียแล้ว!!! ยุ่งล่ะครับคราวนี้เพราะพอลือกันว่าตายแล้วก็มีลือต่อไปว่า เป็นโรคตายมั่งละ ล้มขาหักต้องส่งโรงฆ่าสัตว์มั่งล่ะ ยังดีไม่มีใครลือว่าเป็นเอดส์ตาย หรือหัวใจวายตายคาอกแม่โคสาวๆ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนวุ่นวาย จนอาจก่อให้เกิดการก่อความไม่สงบขึ้นในวงการปรับปรุงพันธุ์ ขอเชิญทุกท่านล้อมวงกันเข้ามาใกล้ๆ ผมจะกระซิบความลับให้ฟัง ความจริงข้อแรกก็คือ เฟิร์สท ตายไปแล้วจริงๆ ครับ ตายชนิดที่ไม่มีวันหวนกลับมาได้อีกแล้ว ตายไปเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2540 สถานที่ที่ตายนะหรือครับ บอกละเอียดไม่ได้ครับ บอกได้แค่ว่า ตาย ณ โรงฆ่าสัตว์แห่งหนึ่งในจังหวัดอยุธยา บอกชื่อโรงฆ่าไม่ได้ครับ เดี๋ยวมีใครเกิดคิดแค้น ไปเผาโรงฆ่าสัตว์เขาทิ้งล่ะยุ่งแน่ ส่วนสาเหตุการตายก็คือ เลือดไหลออกจากแผลที่คอ (ที่ถูกมีดปาด) ไม่หยุด เลือดออกหมดตัวจนตาย ไม่ได้ป่วยตายอย่างที่ลือกันนะครับ ก็คงยังมีคนสงสัยต่ออีกว่าแล้วทำไมอยู่ดีๆ ถึงส่งเข้าโรงฆ่าสัตว์ หมอกฤช มีความขัดแย้งส่วนตัวกับเจ้าเฟิร์สทรึเปล่า เคยโดนเฟิร์สทชนแล้วแค้นแกล้งส่งเฟิร์สทไปตายรึเปล่า
โถ! เข้าใจสงสัยกันจริงๆ เอาอย่างนี้ ผมจะอธิบายให้ฟังให้ละเอียดเลยก็แล้วกัน ฟังแล้วจะได้หายสงสัยกันซะที ต้องขอออกตัวก่อนว่า ผมกับเฟิร์สท ไม่เคยมีเรื่องแค้นกันเลยนะครับ เคยโดนชนบ้างก็เบาๆ แค่กระเด็นไป 2 ถึง 3 ก้าว ไม่รุนแรงอะไร แต่ที่ต้องส่งเฟิร์สทไปเข้าโรงฆ่าสัตว์นั้น มันเป็นไปตามหลักการครับ หลักการนี้เป็นเรื่องที่ได้รับการยอมรับตามหลักวิชาการ และโดยกว้างขวาง เป็นสากลนิยม คือ พ่อพันธุ์ทุกตัวที่เข้ามาในกระบวนการผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งของ อ.ส.ค. เราจะผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งจากพ่อพันธุ์ แต่ละตัวเพียง 30,000 หลอด แล้วหยุดผลิตทันที หลังจากนั้นพ่อพันธุ์เหล่านี้ก็จะถูกส่งไปเข้าโรงฆ่าสัตว์ เพื่อให้กลับมาเกิดใหม่ในชาติหน้า ซึ่งอาจจะเป็นพ่อพันธุ์รุ่นใหม่ที่ดีกว่าเดิมก็ได้ใครจะรู้ สาเหตุที่เราผลิต 30,000 หลอดนั้น เพราะเราได้คำนวณดูแล้วครับ ว่าเป็นปริมาณที่เหมาะสมกับตลาดโคนมบ้านเรา ถ้าผลิตน้อยกว่านี้ก็ไม่คุ้มทุนและจะมีน้ำเชื้อไม่พอกับความต้องการ แต่ถ้าผลิตมากกว่านี้ ก็มีโอกาสที่จะเกิดการผสมซ้ำในสายพันธุ์หรือตระกูลเดียวกันได้ง่าย หรือที่ภาษาอังกฤษเขาเรียก INBREEDING ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องระวังมาก
ก็มีบางคนสนใจจะได้พ่อพันธุ์ที่รีดน้ำเชื้อครบ 30,000 หลอดเหล่านี้ ไปคุมฝูงแม่โคฟาร์มของตัวเองเหมือนกันแต่เราไม่อนุญาตครับ เพราะพ่อพันธุ์เหล่านี้ปกติตัวใหญ่มาก หนักเป็นตันทุกตัว ถ้าเอาไปคุมฝูงแม่โค ผลเสียจะมีมากกว่าผลดีแน่ แม่โคจะรับน้ำหนักการขึ้นทับไม่ไหว ขาจะฉีกกันเป็นทิวแถว อีกอย่างก็คือ การผสมจริงเป็นการเสี่ยงต่อการติดโรคและนำโรคไปสู่แม่โคตัวอื่นๆ ในฝูง คือ พ่อพันธุ์นั้นปลอดโรค แต่ถ้าในฝูงมีแม่วัวเป็นโรคที่ติดต่อทางการสืบพันธุ์อยู่ 1 ตัว แล้วพ่อพันธุ์ไปติดโรคมาจากตัวนั้นต่อไปพ่อพันธุ์ก็จะเป็นตัวอมโรคและนำโรคไปสู่แม่โคทุกตัวในฝูง เรื่องนี้จึงห้ามเด็ดขาดครับ
ทีนี้มาพูดกันต่อถึงเรื่องน้ำเชื้อที่ได้มา 30,000 หลอด เรามีวิธีจัดการกับน้ำเชื้อเหล่านี้โดย แบ่ง 5,000 หลอดแรกนำออกไปให้บริการเกษตรกรของ อ.ส.ค. และเกษตรกรผู้สนใจทั่วไปได้ใช้โดยคิดราคาที่เท่ากัน คือไม่ขาดทุนแต่ไม่เอากำไร (ตอนนี้ = 99 บาท รวมค่าบริการ) ซึ่งเรียกน้ำเชื้อชุดนี้ว่าน้ำเชื้อพ่อพันธุ์หนุ่ม (YOUNG BULL) พอจ่ายออกไปครบ 5,000 หลอด ปุ๊บก็หยุดปั๊บไม่จ่ายอีกที่เหลืออีก 25,000หลอดก็จัดแจงจับใส่ถังเก็บน้ำเชื้อแช่แข็งขนาดใหญ่ที่เรียกว่า ถังธนาคาร เพราะต้องเก็บนาน 4 ถึง 5 ปี กว่าจะเอาออกมาใช้อีก ที่นานขนาดนั้นก็เพราะต้องรอให้มีลูกสาวของพ่อพันธุ์เหล่านี้เกิดขึ้น (เกิดจากการใช้น้ำเชื้อ 5,000 หลอดแรกไงครับ) แล้วโตเป็นสาว ผสมพันธุ์จนคลอดลูกให้น้ำนม 1 ท้อง ได้ข้อมูลกลับมาว่าลูกสาวเหล่านี้ให้นมดีมั้ย เลี้ยงง่ายมั้ย ทนโรคมั้ย ฯลฯ พอมีข้อมูลมากพอ ก็สรุปผลออกมาในรูปของค่าการผสมพันธุ์โคนม (Breeding Value; B.V.) พ่อพันธุ์ตัวที่มีผลสรุปของลูกสาวเหล่านี้ก็ได้ชื่อว่าเป็นพ่อพันธุ์ที่มีการพิสูจน์แล้ว (Proven Sire) ทีนี้น้ำเชื้อ 25,000 หลอดที่เก็บไว้ก็จะถูกนำออกให้บริการอีกรอบ โดยมีการปรับราคาให้เหมาะสมกับความดีเด่นของพ่อพันธุ์แต่ละตัว เช่น ตอนนี้ เฟิร์สท ราคาพร้อมบริการ 145 บาท ไฟน์ ราคาพร้อมบริการ 125 บาท เป็นต้น
ที่เล่ามานี้เป็นแบบคร่าวๆ นะครับ เล่าละเอียดไม่ไหวต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมง แต่ก็คงพอนึกภาพออกนะครับว่าส่วนใหญ่พ่อพันธุ์จะมีอายุอยู่ได้ 2 ถึง 3 ปีเท่านั้น จะไม่อยู่ถึงวันที่มีผลการพิสูจน์ลูกสาวออกมาหรอก ฉะนั้นไม่ต้องมาถามหาดูตัวเจ้าเฟิร์สท แฟร้งค์ ไฟน์ พอน เพิร์ล ซะให้ยาก มีแต่รูปให้ดูครับ ที่มีอยู่ในแผนกผลิตน้ำเชื้อจะเป็นพ่อพันธุ์หนุ่มที่ยังผลิตน้ำเชื้อไม่ครบ 30,000 หลอด เท่านั้น เป็นไงครับทีนี้พอจะเข้าใจชะตาชีวิตของโคพ่อพันธุ์รึยังว่าน่าเศร้าขนาดไหน ฉะนั้นอธิษฐานกันนะครับว่า ถ้าชาติหน้า หรือชาติไหนๆ ต้องเกิดมาเป็นโคแล้วล่ะก็ ขอให้เกิดมาเป็นโคเพศเมียอย่างเดียว อย่าได้เกิดมาเป็นโคเพศผู้เลย ไหนจะถูกส่งไปเชือดตั้งแต่เล็ก ถ้าโชคดีหน่อยได้มาเป็นพ่อพันธุ์ ก็มีโอกาสถูกคัดออกตลอดเวลา โตช้าก็คัดออก ขี้เหร่นิดหน่อยก็คัดออก น้ำเชื้อไม่ดีก็คัดออก ดุก็คัดออก พอรีดน้ำเชื้อได้ก็ไม่เคยเจอของจริงเลย เจอแต่ตัวเทียมตลอด พอรีดน้ำเชื้อครบ 30,000 หลอด ก็ถูกคัดออกอีก อาภัพไม่มีที่สิ้นสุด