องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เป็นองค์กรหลักองค์กรหนึ่งของประเทศที่สั่งสมประสบการณ์ในการดำเนินงานด้านการส่งเสริมการเลี้ยงโคนม ตลอดจนการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตนมมาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 45 ปี นับตั้งแต่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 และพระเจ้าเฟรดเดอริกที่ 9 แห่งประเทศเดนมาร์คที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ก่อตั้งฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์คขึ้น ในปี พ.ศ. 2505 ณ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมการเลี้ยงโคนมของเกษตรกรในประเทศไทย 

การเลี้ยงโคนมให้ประสบความสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ผู้ผลิตแต่ละรายต่างจำเป็นต้องมีโคนมพันธุ์ดี ที่สามารถให้ผลผลิตดีอย่างสม่ำเสมอ เลี้ยงดูได้ง่าย มีความเหมาะสมกับระบบการเลี้ยงดูของเกษตรกรไทย และสามารถถ่ายทอดความดีเหล่านั้นไปให้ลูกของพวกมันได้ ด้วยเหตุนี้ การคัดเลือกโคนมที่มีความสามารถทางพันธุกรรมสำหรับลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจที่เหมาะสมและแม่นยำจึงมีบทบาทสำคัญไม่ด้อยไปกว่า การจับคู่ผสมพันธุ์เพื่อให้โคนมรุ่นลูกมีศักยภาพการผลิตทางพันธุกรรมดีกว่าโคนมรุ่นพ่อแม่ การสนับสนุนข้อมูลและการให้คำแนะนำในการคัดเลือกและผสมพันธุ์พ่อแม่พันธุ์โคนม ที่มีลักษณะเหมาะสมกับระบบการเลี้ยงดูของเกษตรกรไทยแต่ละรายจึงเป็นภารกิจที่สำคัญประการหนึ่งที่ อ.ส.ค. พยายามจะดำเนินการให้ทั่วถึง ครอบคลุม และต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรทุกท่านสามารถพัฒนาศักยภาพการผลิตโคนมในระบบการผลิตของตนเองให้ดียิ่งขึ้นและมีต้นทุนการผลิตต่ำ

การประเมินผลสัมฤทธิ์จากการผสมพันธุ์โคนมรูปแบบต่างๆ ของ อ.ส.ค. นั้นถูกจัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2517 โดย Dr. Knud Vinther ผู้เชี่ยวชาญชาวเดนมาร์กและคณะทำงานของ อ.ส.ค. ข้อมูลที่ได้จากการดำเนินการในครั้งนั้นถูกนำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายและวางแผนการผสมพันธุ์ของหน่วยงานของรัฐเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่อย่างไรก็ตาม แต่ด้วยข้อจำกัดของจำนวนข้อมูลการให้ผลผลิตน้ำนมของโคนมและเทคโนโลยีการคำนวณค่าทางสถิติในขณะนั้น การเผยแพร่คุณสมบัติทางพันธุกรรมของโคพ่อแม่พันธุ์ในระดับเกษตรกรทราบเพื่อใช้ประโยชน์ในการคัดเลือกพันธุ์จึงมีน้อย หลังจากนั้น อ.ส.ค. พยายามพัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลการผลิตน้ำนมของโคนมที่เป็นลูกสาวของพ่อพันธุ์ต่างๆ ที่ผลิตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหวังว่าข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศไทยและการพัฒนากิจกรรมต่างๆ ของ อ.ส.ค. เอง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 อ.ส.ค. ได้รับความร่วมมือจาก รศ.ดร.ศรเทพ ธัมวาสร รองศาสตราจารย์ ประจำภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (กรุงเทพฯ) ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยและปรับปรุงพันธุ์โคเนื้อและโคนมในเขตร้อนชื้น ของสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการให้ความรู้และคำแนะนำการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติเพื่อการปรับปรุงพันธุ์โคนมโดยวิธี “Best Linear Unbiased Prediction (BLUP)” ซึ่งนับเป็นวิธีการประเมินค่าที่มีความแม่นยำสูงที่สุดและมีความไม่ลำเอียงในการประมาณค่าสูง แก่คณะทำงาน อ.ส.ค. โดยใช้ฐานข้อมูลที่มีอยู่ และด้วยการควบคุมการดำเนินงานในเชิงปฏิบัติและอำนวยการอย่างต่อเนื่องของ รองผู้อำนวยการ อ.ส.ค. (นายนพคุณ สวนประเสริฐ) และหัวหน้าสำนักงานผลิตพันธุ์โค (นายเกษตร วิทยานุภาพยืนยง) ในขณะนั้น อ.ส.ค. และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงสามารถจัดทำหนังสือ ค่าการผสมพันธุ์โคนม อ.ส.ค. (D.P.O. Sire and Dam Summary)” ขึ้นเป็นครั้งแรกใน ปี พ.ศ. 2539 เพื่อเผยแพร่ให้กับเกษตรกรได้นำไปใช้ประโยชน์ในการคัดเลือกโคนมพ่อแม่พันธุ์ สำหรับการเพิ่มศักยภาพการผลิตภายในระบบการผลิตของตนเอง หนังสือดังกล่าวจัดเป็นเอกสารแสดงความสามารถทางพันธุกรรมโคนม (รายตัว) ฉบับแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และถูกจัดพิมพ์อย่างต่อเนื่องต่อมาเป็นประจำทุกปีจนกระทั่งปี พ.ศ. 2542

ในปี พ.ศ. 2543 และ พ.ศ. 2544 การจัดทำหนังสือค่าการผสมพันธุ์โคนมจำเป็นต้องยุติลงชั่วคราว เนื่องจากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในหน่วยงาน การปรับโครงสร้างการทำงาน และการประสานความร่วมมือในการวิเคราะห์ข้อมูลกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาดังกล่าว อ.ส.ค. ก็ยังคงดำเนินกิจกรรมในการจัดเก็บข้อมูลผลผลิตและคุณภาพของน้ำนมดิบที่ผลิตได้จากโคนมที่เลี้ยงดูโดยเกษตรกรที่อยู่ภายใต้การดูแลและส่งเสริมของ อ.ส.ค. และเก็บรวบรวมข้อมูลเหล่านั้นไว้ในระบบฐานข้อมูลของ อ.ส.ค. อย่างต่อเนื่อง 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 หนังสือค่าการผสมพันธุ์โคนมของ อ.ส.ค. ได้ถูกจัดทำขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยความมุ่งมั่นและการทำงานร่วมกันระหว่างคณะทำงานของ อ.ส.ค. (น.สพ.โกวิทย์ นิธิชัย น.สพ.โชคชัย ชัยมงคล นายธรรมนูญ ทองประไพ และ น.สพ.เทอดไชย ระลึกมูล) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ผศ.ดร.ศกร คุณวุฒิฤทธิรณ) และ มหาวิทยาลัยฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา (Prof. Dr. Mauricio A. Elzo) ภายใต้การให้คำปรึกษาของผู้บริหารของ อ.ส.ค. และ รศ.ดร.ศรเทพ ธัมวาสร

ในครั้งนั้น ระบบการจัดการฐานข้อมูล การคำนวณค่าผลผลิตรวมในแต่ละระยะที่สนใจและลักษณะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้ผลผลิต รวมถึงกลวิธีและหุ่นจำลองทางพันธุกรรม ที่ได้รับการพัฒนาให้มีความเหมาะสมกับรูปแบบการผลิตและลักษณะโครงสร้างของประชากรโคนมของประเทศไทยที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรม (multibreed population) ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการประเมินความสามารถทางพันธุกรรมของโคนมแต่ละตัว (พ่อพันธุ์และแม่พันธุ์) ที่ปรากฏในชุดข้อมูล เพื่อให้มั่นใจได้ว่า คุณค่าการผสมพันธุ์ หรือความสามารถทางพันธุกรรม สำหรับลักษณะต่างๆ ที่ประเมินค่าได้ของโคนมแต่ละตัวมีความแม่นยำและไม่ลำเอียงสูงที่สุด 

หลังจากนั้น (พ.ศ. 2545) หนังสือ ค่าการผสมพันธุ์โคนมของ อ.ส.ค.ยังคงได้รับการพัฒนาคุณภาพ จัดทำ และเผยแพร่ออกมาเป็นประจำทุกปี โดยความร่วมมือระหว่าง อ.ส.ค. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยฟลอริดา (ประเทศสหรัฐอเมริกา) กลวิธีทางสถิติที่ใช้ในการการวิเคราะห์ข้อมูลและตรวจสอบความถูกต้องและเชื่อมโยงของข้อมูล (connectedness) ได้รับการพัฒนาในรูปแบบของงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง ความร่วมมือในการประเมินความสามารถทางพันธุกรรมสำหรับลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจของโคนมระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทยได้รับการขยายวงให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อให้การนำเสนอความสามารถทางพันธุกรรมของโคนมนั้นครอบคลุมไปถึงการเลี้ยงโคนมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย นอกจากนี้ ความก้าวหน้าในการปฏิบัติงานดังกล่าว ตลอดจนสถานภาพทางพันธุกรรมสำหรับลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจของโคนมที่ผลิตในประเทศไทยถูกประเมินผลสัมฤทธิ์ และนำเสนอให้ผู้เกี่ยวข้องกับการผลิตโคนมทุกระดับทราบอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี