ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการคัดเลือกพันธุ์

ผู้เขียน: ผศ.ดร.ศกร คุณวุฒิฤทธิรณ

รายละเอียดและรูปแบบของ “การคัดเลือกพันธุ์” นั้นมีความสัมพันธ์โดยตรงกับ “วัตถุประสงค์ของการปรับปรุงพันธุ์” ลักษณะการแสดงออกของโคนมที่ฟาร์มหนึ่งสนใจคัดเลือก (เช่น ปริมาณน้ำนม รูปร่าง ประสิทธิภาพการสืบพันธุ์ สุขภาพ และอื่นๆ) อาจได้รับหรือไม่ได้รับความสนใจจากอีกฟาร์มหนึ่งได้เสมอ และในบางกรณีถึงแม้ว่าลักษณะดังกล่าวจะได้รับความสนใจเหมือนกัน แต่ระดับหรือ “การจัดลำดับความสำคัญ” สำหรับลักษณะต่างๆ ดังกล่าวในการคัดเลือกพันธุ์แต่ละครั้งก็อาจแตกต่างกันได้เช่นกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของเกษตรกรและรวมไปถึงลักษณะโครงสร้างทางพันธุกรรมโคยม สมรรถภาพการผลิต ลักษณะการผลิต และสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่ในประชากรโคนมของฟาร์มนั้นๆ ซึ่งมักแตกต่างกันไปในแต่ละฟาร์ม (ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน) และเป็นส่วนสำคัญ ที่ทำให้วัตถุประสงค์ของการปรับปรุงพันธุ์ หรือการพัฒนาศักยภาพทางพันธุกรรมสำหรับลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจของฟาร์มแต่ละฟาร์มนั้นแตกต่างกัน

ในการพัฒนาศักยภาพทางพันธุกรรม สิ่งที่สามารถนำมาใช้ในการพิจารณาตัดสินใจกำหนดว่าโคนมตัวใดสมควรได้รับการคัดเลือกให้มีโอกาสจับคู่ผสมพันธุ์ เพื่อถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมที่ดีของตนไปยังลูกโคนมรุ่นใหม่นั้น ได้แก่ 1) “ประสบการณ์” ที่เกิดจากความรู้สึกได้เกี่ยวกับสิ่งที่ได้เคยประสบมาก่อน และ2)“ข้อมูล” ที่เกิดจากการวัดและคำนวณ เช่น ลักษณะที่ปรากฏหรือที่แสดงออกมาให้เห็น ( ข้อมูลของตนเอง ลูก พ่อแม่ และเครือญาติ) และความสามารถทางพันธุกรรมของโคนมแต่ละตัวสำหรับลักษณะใดๆ เช่น EBV (Estimated Breeding Value), EPD (Expected Progeny Difference), ETA (Estimated Transmitting Ability) เป็นต้น หรือสำหรับกลุ่มลักษณะ เช่น ดัชนีการคัดเลือกกลุ่มลักษณะต่างๆ (selection index) เป็นต้น

ความแม่นยำและความยุติธรรมของการพิจารณาตัดสินใจโดยใช้ “ประสบการณ์” ในการกำหนดว่าโคนมตัวใดควรได้รับการคัดเลือกให้มีโอกาสจับคู่ผสมพันธุ์ เพื่อถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมที่ดีของตนไปยังลูกโคนมรุ่นใหม่นั้น ขึ้นอยู่กับ 1) ความสามารถเฉพาะตัวของผู้คัดเลือกแต่ละคนที่เกิดขึ้นจากความสนใจและการสังเกต 2) สถานภาพทางอารมณ์และจิตใจของผู้คัดเลือกในขณะปฏิบัติงานเวลานั้น และ 3) จำนวนและความแตกต่างของโคนมที่นำมาพิจารณาคัดเลือกในครั้งนั้นๆ

ส่วนการพิจารณาตัดสินใจคัดเลือกพันธุ์โดยใช้ “ข้อมูล” นั้น ความแม่นยำและความยุติธรรมขึ้นอยู่กับ 1) ความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของข้อมูลดิบที่จัดเก็บ 2) ปริมาณ โครงสร้าง และความสมบูรณ์ของข้อมูลที่นำมาใช้ในการพิจารณา 3) ประสิทธิภาพและความเหมาะสมของสมมติฐานและกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล 4) ความถูกต้องของการแปรผลและอธิบายผลลัพธ์ที่ได้จากการวิเคราะห์ และ 5 ) ความรู้ขั้นพื้นฐาน ความเข้าใจ และความสามารถในการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์เพื่อการผลิตโคนม

ในเชิงปฏิบัติ การใช้ประสบการณ์ (แต่เพียงอย่างเดียว) ในการคัดเลือกพันธุ์โคนมแต่ละตัวนั้นมีโอกาสผิดพลาดได้สูง เนื่องจากข้อจำกัดและประสิทธิภาพในความทรงจำของผู้คัดเลือกเกี่ยวกับข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสมรรถภาพและความดีเด่นสำหรับลักษณะแต่ละลักษณะของโคนมแต่ละตัวที่นำมาพิจารณาคัดเลือก ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีที่พิจารณาคัดเลือกโคนมจำนวนน้อยตัวและโคนมแต่ละตัวมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน การคัดเลือกโดยอาศัยประสบการณ์อาจได้ผลดี แต่ก็ยังมีความเสี่ยงในความแม่นยำของการคัดเลือกอยู่ดีซึ่งจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้คัดเลือกแต่ละคน

สำหรับการคัดเลือกโคนมจำนวนมากตัวหรือโคนมแต่ละตัวที่มีลักษณะแตกต่างกันอย่างไม่ชัดเจน การใช้ประสบการณ์ในการพิจาณาคัดเลือกแต่เพียงอย่างเดียวนั้นอาจไม่เพียงพอ “ ข้อมูลพันธุ์ประวัติและสมรรถภาพการผลิตสำหรับลักษณะที่สนใจ” อาจจำเป็นต้องถูกนำมาใช้ประกอบกับการพิจารณาตัดสินใจคัดเลือกโคนม แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตโคนมหรือผู้ที่พิจารณาคัดเลือกพันธุ์โคนมจำเป็นต้องพึงระลึกเสมอว่า “ ถึงแม้ว่าการใช้ประโยชน์จาก “ข้อมูล” ในการพิจารณาตัดสินใจคัดเลือกพันธุ์จะดูเหมือนว่ามีความแม่นยำและความยุติธรรมมากกว่าการใช้ประโยชน์จาก “ประสบการณ์” แต่ถ้าหากข้อมูลที่นำมาใช้ประโยชน์ในการคัดเลือกพันธุ์เหล่านั้นขาดความสมบูรณ์ไปในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง (ตามที่ได้อธิบายไว้ข้างต้น) ข้อมูลเหล่านั้นก็จะไม่สามารถทำให้การคัดเลือกพันธุ์เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังคงมีความไม่แม่นยำหรือมีความลำเอียงปะปนอยู่เช่นกัน

ด้วยหลักของการบริหารจัดการความเสี่ยง และความเป็นจริงที่ว่าไม่มีสิ่งใดที่ดีบริสุทธิ์ สิ่งที่นำมาพิจารณาในการตัดสินใจคัดเลือกโคนมแต่ละอย่างมีข้อดี ข้อด้อย และข้อจำกัดแตกต่างกันไปตามสภาพและเงื่อนไขของการนำมาใช้ประโยชน์ทั้งสิ้น ดังนั้น การพิจารณาคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์โคนม เพื่อนำมาผสมพันธุ์ให้ได้โคนมรุ่นใหม่ที่มีสมรรถภาพและประสิทธิภาพการผลิตดีขึ้นกว่าโคนมรุ่นปัจจุบันนั้น “ ผู้ผลิตหรือผู้ที่ทำหน้าที่คัดเลือกพันธุ์จำเป็นต้องใช้ประโยชน์จาก ประสบการณ์และข้อมูล ให้มากที่สุด เพื่อทำให้การตัดสินใจคัดเลือกโคนมในครั้งนั้นๆ สามารถทำได้อย่างแม่นยำ มีเหตุผล ไม่ลำเอียง และลดความเสี่ยงในความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้มากที่สุด”

โดยทั่วไปการคัดเลือกโคนมพ่อแม่พันธุ์จะต้องมีลักษณะสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการพัฒนาศักยภาพทางพันธุกรรม (การปรับปรุงพันธุ์) ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละฟาร์มหรือระบบการผลิต อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงจำนวนลักษณะที่ใช้ในการพิจารณาคัดเลือกแต่ละครั้ง อาจสามารถจำแนกรูปแบบของการคัดเลือกได้เป็น 2 ประเภท คือ การพิจารณาคัดเลือกลักษณะใดลักษณะหนึ่งเพียงลักษณะเดียว และการพิจารณาคัดเลือกหลายลักษณะไปพร้อมๆ กัน

การพิจารณาคัดเลือกลักษณะใดลักษณะหนึ่งเพียงลักษณะเดียว (ปล่อยให้ลักษณะอื่นๆ ในประชากรผันแปรไปโดยสุ่ม) นั้นสามารถก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางพันธุกรรม (สำหรับลักษณะที่พิจารณานั้นๆ) ได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากสามารถทำได้ง่าย ชัดเจน และไม่ยุ่งยาก สิ่งที่นำมาพิจารณาตัดสินใจว่าจะคัดเลือกโคนมตัวใดนั้นอาจเป็นไปได้ทั้ง “ประสบการณ์” และ “ข้อมูล” ที่เกี่ยวข้องกับสมรรถภาพที่แสดงออกภายนอก (สมรรถภาพหรือค่าเฉลี่ยสมรรถภาพของตนเอง ลูก พ่อแม่ หรือเครือญาติ) และความสามารถทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดได้ (EBV, EPD, หรือ ETA ) สำหรับลักษณะที่พิจารณานั้นๆ ของโคนมแต่ละตัว (รายตัว) อย่างไรก็ตาม รูปแบบการคัดเลือกที่พิจารณาเพียงลักษณะเดียวอาจไม่เหมาะสมต่อการนำมาใช้ประโยชน์ ในระบบการผลิตโคนมที่ต้องการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตของโคนมสำหรับลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจมากกว่าหนึ่งลักษณะ

การพิจารณาคัดเลือกโคนมสำหรับลักษณะที่แตกต่างกันพร้อมๆ กันหลายลักษณะนั้น สามารถช่วยให้กลุ่มของลักษณะที่สนใจเหล่านั้นได้รับการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นพร้อมๆ กันได้ แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยความหลากหลายในการแสดงออกภายนอกและความสามารถทางพันธุกรรมสำหรับกลุ่มลักษณะของโคนมแต่ละตัวที่พิจารณา ส่งผลให้การพิจารณาความสามารถของโคนมรายตัวสำหรับลักษณะแต่ละลักษณะไปพร้อมกันนั้น ไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในบางครั้งอาจก่อให้เกิดความ “ ลำเอียง” ในการพิจารณาคัดเลือกโคนมแต่ละตัว ดังนั้น การพิจารณาคัดเลือกโคนมแต่ละตัวสำหรับกลุ่มลักษณะดังกล่าวจึงอาจจำเป็นต้องอาศัยค่า “ดัชนีการคัดเลือก (selection index)” ซึ่งเป็นค่าที่เกิดขึ้นจาก “ การโยงความสัมพันธ์และระดับการให้ความสำคัญทางเศรษฐกิจสำหรับกลุ่มลักษณะที่พิจารณา” โดยอธิบายออกมาในรูปของสมการทางคณิตศาสตร์ เช่น ดัชนีสำหรับลักษณะการให้ผลผลิตและรูปร่าง หรือ กลุ่มลักษณะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลผลิต เป็นต้น

ค่าดัชนีนั้นมีลักษณะเป็นค่าเดียวที่ไม่มีหน่วย และเป็นค่าเฉพาะสำหรับโคนมแต่ละตัวที่พิจารณา (สำหรับกลุ่มลักษณะใดๆ โคนมแต่ละตัวจะมีค่าดังกล่าวเพียงค่าเดียว) ค่าดัชนีมักถูกใช้ในการจัดลำดับ (ranking) ความดีเด่นในภาพรวมของโคนมแต่ละตัวที่พิจารณาคัดเลือก ด้วยเหตุนี้การตัดสินใจคัดเลือกโคนมโดยพิจารณาจากค่าดัชนีจึงทำได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม “ การใช้ดัชนีการคัดเลือกจะมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อ โคนมแต่ละตัวที่จะถูกพิจารณาคัดเลือกนั้นถูกเลี้ยงดูภายใต้การจัดการและสภาพแวดล้อมเดียวกัน” การเปรียบเทียบโคนมที่มาจากต่างแหล่งพันธุกรรมหรือได้รับการจัดการเลี้ยงดูที่แตกต่างกันโดยใช้ค่าดัชนีนั้นจะทำได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ที่เป็นเช่นนี้เพราะสมการทางคณิตศาสตร์ที่นำมาใช้ในการคำนวณค่าดัชนีนั้นมีความจำเพาะต่อความผันแปรของกลุ่มลักษณะดังกล่าว (ที่พิจารณา) ในประชากรโคนมนั้นๆ ซึ่งความผันแปรนี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละประชากรเนื่องจากความแตกต่างของโครงสร้างทางพันธุกรรม สภาพแวดล้อม และระบบการจัดการเลี้ยงดู ดังนั้น ค่าดัชนีที่คำนวณขึ้นอาจใช้สมการที่แตกต่างกัน (ค่าสัมประสิทธิสำหรับลักษณะต่างๆ แตกต่างกัน) หรือมีความเหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ในสภาพการผลิตและการตลาดที่แตกต่างกัน (ระดับการให้ความสำคัญในแง่เศรษฐศาสตร์) ในแต่ละประชากร การฝืนหรือมองข้ามประเด็นดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในผลลัพธ์ที่จะได้จากการคัดเลือก เนื่องจากการคัดเลือกที่เกิดขึ้นนั้นมีความไม่แม่นยำและยุติธรรมเพียงพอ

อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตหรือผู้ที่จะทำการพิจารณาคัดเลือกโคนมควรระลึกเสมอเกี่ยวกับความจริงที่ว่า “ไม่มีสัตว์ตัวใดดีบริสุทธิ์สำหรับทุกๆ ลักษณะ และในขณะเดียวกันก็ไม่มีวิธีการคัดเลือกหรือข้อมูลใดที่สมบูรณ์และแม่นยำอย่างบริสุทธิ์” ผู้ผลิตโคนมจำเป็นต้องมีความเข้าใจในความหลากหลายทางพันธุกรรม มีความเข้าใจอย่างถูกต้องเกี่ยวกับข้อดี ข้อด้อย หรือข้อจำกัดของวิธีการคัดเลือกหรือการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่จะนำมาใช้ในการคัดเลือก และต้องยอมรับในความเป็นจริงของการเกิดความเสี่ยงอันเนื่องมาจากการตัดสินใจคัดเลือกทุกครั้ง

นอกจากนี้ ผู้ผลิตอาจจำเป็นต้องประเมินผลตอบสนองที่มีต่อการคัดลือกโคนมในแต่ละรุ่น ว่าการตัดสินใจบนพื้นฐานความเข้าใจและข้อมูลในครั้งนั้นๆ แม่นยำมากหรือน้อยเพียงไร ทั้งนี้เพื่อนำข้อมูลที่ปรากฏไม่ว่าจะดีหรือด้อยเพียงไรก็ตามไปปรับให้วิธีการคัดเลือกหรือข้อพิจารณาในการคัดเลือกครั้งต่อไปมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น