ที่มา: วารสารโคนม ปีที่ 21 ฉบับที่ 2

ผู้แต่ง: ผศ.ดร.ศกร  คุณวุฒิฤทธิรณ

ในยุคแห่งเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมเช่นในปัจจุบัน เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตโคนมในประเทศไทยทุกท่านคงปฏิเสธการแข่งขันทางการค้าได้ค่อนข้างลำบาก “พันธุกรรมของโคนม” เป็นปัจจัยการผลิตประการหนึ่งที่มีความสำคัญต่อระบบการผลิตโคนมที่มีส่วนช่วยให้ระบบการผลิตภายในฟาร์มสามารถเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม การได้มาซึ่งโคนมที่มีศักยภาพทางพันธุกรรมในการให้ผลผลิตสูงและสามารถแสดงลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจได้ดีนั้น จำเป็นต้องอาศัยรู้และความเข้าใจในวิธีการคัดเลือก (selection) และผสมพันธุ์ (mating) ที่ถูกต้องและเหมาะสมซึ่งหากการตัดสินใจในกระบวนการดังกล่าวมีข้อผิดพลาดจะก่อให้เกิดผลเสียอย่างต่อเนื่องจนยากที่จะแก้ไขได้เอกสารฉบับนี้จึงถูกเรียบเรียงขึ้นเพื่อนำเสนอข้อมูลการเลี้ยงโคนมในประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันลักษณะของพันธุ์โคนมไทยที่คาดหวังในอนาคตตลอดจนเสนอแนะแนวทางในการได้มาซึ่งพันธุ์โคนมไทยในอนาคตเหล่านั้น 

1) โคนมไทยในอดีต

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่เกษตรกรส่วนใหญ่มีอาชีพการทำนา ทำสวน และทำไร่ ในอดีตการเลี้ยงสัตว์เป็นเพียงส่วนประกอบเพื่อช่วยเป็นแรงงานและเป็นแหล่งสำรองของเงินทุนหรือหลักทรัพย์ในยามขาดแคลนเงินตราเท่านั้น การเลี้ยงโคเพื่อการบริโภคน้ำนมในประเทศไทยเกิดขึ้นครั้งแรกในชุมชนชาวอินเดียที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ราวปี พ.ศ.2450 ซึ่งในขณะนั้นโคที่เลี้ยงไว้เพื่อรีดน้ำนมเป็นโคพันธุ์บังคลา (Benglani) ซึ่งโคนมแต่ละตัวให้ผลผลิตน้ำนมไม่มากนัก ได้น้ำนมเฉลี่ยประมาณ 2.6 ลิตรต่อตัวต่อวัน นานเพียง 6 ถึง 8เดือนภายหลังจากนั้นสังคมการผลิตโคนมภายในประเทศไทยมีเหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้นจำนวนมากซึ่งพอจะสามารถสรุปเหตุการณ์ที่สำคัญๆที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการผลิตโคนมในประเทศไทยได้เป็นระยะๆดังต่อไปนี้

ระยะแรก (พ.ศ. 2450 ถึง พ.ศ. 2490) เลี้ยงโคเพื่อการผลิตน้ำนมสำหรับการบริโภคเกิดขึ้นในกลุ่มชาวอินเดียที่อพยพมาในประเทศไทย โคนมที่เลี้ยงในช่วงแรกเป็นโคพันธุ์บังคลา อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโคพันธุ์ดังกล่าวให้ผลผลิตน้ำนมน้อย ต่อมาชาวอินเดียจึงได้นำโคพันธุ์พันธุ์เรดซินดิ (Red Sindhi) และ ซาฮิวาล (Sahiwal) เข้ามาเลี้ยงแทนซึ่งก็ส่งผลให้ได้ผลผลิตน้ำนมเพิ่มมากขึ้น (4 ลิตรต่อตัวต่อวัน นาน 8 เดือน) หลังจากนั้นรัฐบาลไทยเริ่มให้ความสนใจในการเลี้ยงโคเพื่อการผลิตน้ำนมสำหรับการบริโภค จึงได้มีการนำโคพันธุ์เจอร์ซี่ (Jersey) เข้ามาทดลองเลี้ยงโดยกองทัพบก และรวบรวมโคนมของชาวอินเดียในประเทศไทยมาทดลองเลี้ยงที่เกษตรกลางบางเขน อย่างไรก็ตาม โคเหล่านั้นก็ยังคงให้ผลผลิตน้ำนมได้ไม่แตกต่างกันมากนัก ต่อมาในช่วงสงครามทหารญี่ปุ่นได้นำโคนมพันธุ์โฮลสไตน์ (Holstein)จากประเทศสิงค์โปรมาเลี้ยงในประเทศไทยเพื่อผลิตน้ำนมเพื่อการบริโภคในหมู่ทหารและส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงมากขึ้น

ระยะที่สอง (พ.ศ.2490 ถึง พ.ศ. 2510) รัฐบาลไทยได้ส่งนักเรียนทุนไปศึกษาเกี่ยวกับการผลิตสัตว์ให้นมในระดับอุดมศึกษาในต่างประเทศ เพื่อนำความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ให้นมกลับมาพัฒนาและประยุกต์ใช้ประโยชน์ในประเทศไทย ต่อมาการจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับการผลิตโคนมและการเลี้ยงสัตว์ให้นมอื่นๆ จึงได้เริ่มดำเนินการในมหาวิทยาลัยของประเทศไทย กรมปศุสัตว์เริ่มมีการจัดตั้งสถานีบำรุงพันธุ์สัตว์ทั่วประเทศ เทคนิคการผสมเทียมเริ่มถูกนำมาประยุกต์ใช้และขยายผล อย่างไรก็ตาม พันธุ์โคนมต่างๆ เช่น เรดเดน (Red Dane) และบราวน์สวิส (Brown Swiss) ก็ยังคงถูกนำเข้ามาเพื่อการเพิ่มผลผลิตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์กได้รับการจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2504 ที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี และฟาร์มโคนมไทย-เยอรมันได้รับการจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2508 ที่อำเภอห้วยแก้วจังหวัดเชียงใหม่ทำให้เกิดการขยายผลการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมในกลุ่มเกษตรกรรายใหม่เพิ่มมากขึ้น

ระยะที่สาม (พ.ศ. 2510 ถึง พ.ศ. 2530) การค้นคว้าวิจัยเทคโนโลยีด้านพันธุกรรมและการจัดการการผลิตโคนมเริ่มมีขึ้นโดยหน่วยงานของรัฐบาล ศาสตร์แห่งการปรับปรุงพันธุ์เริ่มถูกนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเปิดสอนในระดับมหาวิทยาลัย ศาสตร์แห่งการประกวดและตัดสินโคนม (Dairy Showing and Judging) เริ่มถูกนำมาสอนในสถาบันการศึกษา องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ก) รายงานค่าการผสมพันธุ์ของโคนม (คำนวณโดยวิธี Least Square) เป็นครั้งแรก เทคโนโลยีชีวภาพถูกนำมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการสืบพันธุ์ของโคนมในประเทศไทย ในระยะนี้โคนมสามารถให้ผลผลิตน้ำนมเฉลี่ยเพิ่มมากขึ้นกว่าในระยะก่อน โดยให้ผลผลิตน้ำนมเฉลี่ยวันละประมาณ 8.5 ลิตรต่อตัวนาน 290 วัน กรมปศุสัตว์ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาโคนมในประเทศไทยจึงได้พัฒนาโครงการผลิตโคนมพันธุ์ Thai Milking Zebu หรือ TMZ ขึ้น รัฐได้รับเงินกู้จากรัฐบาลเดนมาร์คผ่าน FAO/DANID เพื่อสร้างโรงงานนมที่มวกเหล็กและที่ปราณบุรีและผลิตบุคคลากรให้กับวิทยาลัยเกษตรกรรม 8 แห่ง การบริโภคน้ำนมของคนไทยเพิ่มมากขึ้นจากผลการส่งเสริมการบริโภคน้ำนมของรัฐบาลอย่างเห็นได้ชัด

ระยะที่สี่ (พ.ศ. 2530 ถึง พ.ศ. 2540) รัฐบาลตระหนักถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากผลผลิตน้ำนมที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จึงได้เริ่มโครงการนมโรงเรียนขึ้น ชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทยได้ก่อตั้งขึ้นจากสหกรณ์โคนม 93 สหกรณ์ทั่วประเทศ กรมปศุสัตว์เริ่มโครงการเก็บข้อมูลเพื่อการพัฒนาคุณภาพการผลิตโคนม หรือเรียกกันว่า DHIA และทำการวิจัยโคนมขาวดำ (โฮลสไตน์) จากประเทศแคนาดาด้วยการจัดการที่ทันสมัยมากที่สุด โรงงานที่ทันสมัยเพิ่มมากขึ้นทั้งโรงงานนม และผลิตภัณฑ์นม โปรแกรมการจัดการโคนมถูกนำมาอบรมเกษตรกรภายใต้การดำเนินงานของกรมปศุสัตว์ผ่านสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนม อย่างไรก็ตาม การนำเข้าพันธุ์โคนมจากประเทศต่างๆ จำนวนยังคงเกิดขึ้นจำนวนมาก บริษัทเอกชนเริ่มวิจัยการจัดการโรงเรือนชนิด Evaporative Cooling System เพื่อนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ศาสตร์แห่งการปรับปรุงพันธุ์ เรื่อง Best Linear Unbiased Prediction (BLUP) ของโคนมถูกนำเข้ามาสอนและวิจัยในสถาบันการศึกษาชั้นสูงของประเทศ และ ต่อมาองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทยได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จัดทำเอกสารค่าการผสมพันธุ์โคนม (คำนวณด้วยวิธี Animal Model BLUP) เพื่อใช้ประโยชน์ในการคัดเลือกโคพ่อแม่พันธุ์ขึ้นเป็นครั้งแรก ผลผลิตน้ำนมเฉลี่ยในฟาร์มเกษตรกรที่มีประสบการณ์มีปริมาณมากขึ้น อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมของประชากร โคนมเหล่านั้นยังคงให้นมเฉลี่ยวันละ 8 ถึง 8.50 ลิตรต่อตัว

ระยะที่ห้า (พ.ศ.2540 ถึง พ.ศ. 2545) ในช่วงต้นระยะประเทศไทยยังคงนำเข้าโคจำนวน 22,000 ตัว และมีโครีดนม 200,000 ตัว ผลิตนมดิบได้ปีละประมาณ 480,000 ตัน คนไทยตื่นตัวหันมาดื่มนมและบริโภคผลิตภัณฑ์นมเพิ่มมากขึ้น (คนละ 12 ลิตรต่อปี) โคนมให้นมเฉลี่ยวันละ 9.50 ลิตรต่อตัว และให้นมนาน 290 วัน ในแง่ของการปรับปรุงพันธุ์ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทยและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยังคงพัฒนากลวิธีการวิเคราะห์ค่าการผสมพันธุ์โคนมให้มีความแม่นยำและไม่ลำเอียงมากยิ่งขึ้น ค่าการผสมพันธุ์โคนมขององค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทยยังคงถูกนำเสนอในรูปเอกสารประจำปีอย่างต่อเนื่อง ในระยะนี้งานวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์ การสร้างพันธุ์โคนม และการจัดการฟาร์มในรูปแบบต่างๆ มีจำนวนมากขึ้น เทคโนโลยีร่วมสมัย เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ พันธุศาสตร์โมเลกุล และคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตโคนมมากขึ้น รัฐบาลยังคงเพิ่มงบประมาณให้กับโครงการนมโรงเรียน แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหานมล้นตลาดก็ยังปรากฏให้เห็นเป็นประจำทุกปี กลุ่มเกษตรกรผู้รวบรวมน้ำนมดิบเอกชน 15 แห่ง ได้รวมตัวตั้งสมาคมอย่างเป็นทางการเพื่อปกป้องเกษตรกรภายในกลุ่มของตนสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทยกรมปศุสัตว์กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันมาร่วมมือกันเสนอร่างพระราชบัญญัตินมแห่งชาติขึ้น 

2) โคนมไทยในปัจจุบัน

ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารและการขนส่งในปัจจุบันที่มีความรวดเร็วสูงส่งผลให้เกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องกับการผลิตโคนมสามารถนำเทคโนโลยีและความรู้ต่างๆ เข้ามาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโคนมของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยภาพรวมแล้ว ประเทศไทยในปัจจุบันมีโคนมทั้งสิ้นประมาณ 358,440 ตัว เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.2536 หรือ 10 ปี ที่แล้ว จำนวน 121,251 ตัว หรือ คิดเป็นการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 12,064 ตัวต่อปี (ภาพที่ 1) ในประชากรโคนมกลุ่มนี้ มีโครีดนมประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ (142,093 ตัว) ซึ่งสามารถผลิตน้ำนมได้ประมาณ 1,531,003 กิโลกรัมต่อวัน หรือคิดเป็น 10.77กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน

ภาพที่ 1 จำนวนโคนมที่สำรวจในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 ถึง พ.ศ.2545
ที่มา ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ (2546)

จำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมไทยในปัจจุบัน (ภาพที่ 2) มีจำนวนทั้งสิ้น ประมาณ 17,893 ราย พิจารณาจากข้อมูลแล้วจะเห็นได้ว่า เกษตรกรที่มีโคนมเพียง 1 ถึง 10 ตัวนั้น มีสัดส่วน (32 เปอร์เซ็นต์) พอๆ กับเกษตรกรที่มีโครีดนม 11 ถึง 20 ตัว (32 เปอร์เซ็นต์) และ เกษตรกรที่มีโครีดนมมากกว่า 20 ตัว (36 เปอร์เซ็นต์)

 

ภาพที่ 2 จำนวนเกษตรกร (ฟาร์ม) ผู้เลี้ยงโคนมที่สำรวจได้ในประเทศไทย ในปี พ.ศ.2545
ที่มา ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ (2546)

ในแง่ของความสามารถในการให้ผลผลิตน้ำนมของโคนมในปัจจุบัน หากพิจารณาถึงความสามารถในการผลิตที่แสดงออกภายนอก (phenotypic performance) จะเห็นได้ว่าโคนมไทยในปัจจุบัน (โดยภาพรวม) มีความสามารถในการให้ผลผลิตที่แสดงออกภายนอกเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีตมาก จากข้อมูลงานวิจัยที่รวบรวมได้จากฟาร์มโคนมของเกษตรกรในเขตภาคกลาง ชี้ให้เห็นว่า โคนมที่เกิดใหม่ในแต่ละปีมีแนวโน้มในการให้ผลผลิตน้ำนมในช่วง 100 วันแรกภายหลังคลอด เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 46.37 กิโลกรัมต่อปี (ภาพที่ 3) และ มีแนวโน้มในการให้ผลผลิตน้ำนมตลอดช่วง 305 วันแรกภายหลังคลอดเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 267.83 กิโลกรัมต่อปี (ภาพที่ 4)

ภาพที่ 3 ความสามารถที่แสดงออกภายนอกสำหรับการให้ผลผลิตน้ำนมที่ 100 วัน ของโคนมที่เกิดใหม่
นับตั้งแต่ พ.ศ.2531 ถึง พ.ศ. 2542

ที่มา องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (2546)

ภาพที่ 4 ความสามารถที่แสดงออกภายนอกสำหรับการให้ผลผลิตน้ำนมที่ 305 วัน ของโคนมที่เกิดใหม่
นับตั้งแต่ พ.ศ.2531 ถึง พ.ศ. 2542

ที่มา องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (2546)

แต่อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงความสามารถที่เป็นผลมาจากอิทธิพลทางพันธุกรรม (genetic ability) ของโคนมไทยในปัจจุบันเปรียบเทียบกับโคนมที่เกิดในปีก่อนหน้าจะเห็นได้ว่าโคนมไทยในปัจจุบัน โดยภาพรวมมีแนวโน้มในการให้ผลผลิตน้ำนมในช่วง 100 วันแรกภายหลังคลอดด้วยความสามารถทางพันธุกรรมเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ย 1.37 กิโลกรัมต่อปี (ภาพที่ 5) แต่มีแนวโน้มในการให้ผลผลิตน้ำนมตลอดช่วง 305 วันแรกภายหลังคลอดด้วยความสามารถทางพันธุกรรมลดลงในอัตราเฉลี่ย 3.57 กิโลกรัม (ภาพที่ 6)

ภาพที่ 5 ความสามารถทางพันธุกรรมสำหรับการให้ผลผลิตน้ำนมที่ 100 วัน ของโคนมที่เกิดใหม่
นับตั้งแต่ พ.ศ.2531 ถึง พ.ศ. 2542

ที่มา องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (2546)

ภาพที่ 6 ความสามารถทางพันธุกรรมสำหรับการให้ผลผลิตน้ำนมที่ 305 วัน ของโคนมที่เกิดใหม่
นับตั้งแต่ พ.ศ.2531 ถึง พ.ศ. 2542

ที่มา องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (2546)

ความไม่สอดคล้องกันระหว่างแนวโน้มการผลิตที่แสดงออกภายนอก และที่เป็นผลมาจากอิทธิพลทางพันธุกรรม สำหรับการให้ผลผลิตตลอดระยะเวลา 305 วันภายหลังคลอดของโคที่เกิดขึ้นใหม่ในแต่ละปีนับตั้งแต่ พ.ศ.2531 ถึง พ.ศ. 2542 นั้น อาจเป็นผลมาจากสาเหตุหลายประการ เช่น ความแตกต่างในการตอบสนองต่อคุณภาพของการจัดการฟาร์ม (สิ่งแวดล้อม) ของโคนมที่อยู่ในช่วง 100 และ 305 วันแรกภายหลังคลอด กล่าวคือ ในช่วง 100 วันแรกภายหลังคลอด โคนมส่วนใหญ่มีความสามารถในการให้ผลผลิตน้ำนมผันแปรไปตามศักยภาพทางพันธุกรรมของตนเองมากกว่าการในช่วงให้ผลผลิตน้ำนมที่ 305 วันแรกภายหลังคลอด และในความเป็นจริง เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพของการจัดการฟาร์มแต่ยังมีวิถีการปฏิบัติเกี่ยวกับการคัดเลือกและผสมพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพไม่มากนัก ผลการดำเนินการดังกล่าว ส่งผลต่อแนวโน้มการให้ผลผลิตที่แสดงออกภายนอกมากกว่าแนวโน้มการให้ผลผลิตที่เป็นผลมาจากศักยภาพทางพันธุกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อลักษณะการให้ผลผลิตน้ำนมรวมที่ 305วันภายหลังคลอดโคที่มีศักยภาพทางพันธุกรรมต่ำได้รับการจัดการฟาร์มที่ดีจึงสามารถให้ผลผลิตน้ำนมมากกว่าโคนมที่มีศักยภาพทางพันธุกรรมสูงแต่อยู่ในสภาพการจัดการฟาร์มที่ไม่ดีเป็นต้นเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นต้องเร่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง 

3) ความคาดหวังเกี่ยวกับ “พันธุ์โคนมไทยในอนาคต”

ด้วยสภาวะการแข่งขันทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีมากในปัจจุบันและนับวันมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นดังนั้นหากกล่าวถึงความคาดหวังเกี่ยวกับ“พันธุ์โคนมไทยในอนาคต”แล้วทุกท่านคงปฏิเสธได้ยากถึงการได้มาซึ่งโคนมที่มีคุณลักษณะดังต่อไปนี้

  • เป็นโคที่สามารถให้ผลผลิตและแสดงลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Production efficiency)
  • เป็นโคที่สามารถให้ผลผลิตและแสดงลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องและยาวนาน (Life Time Production)
  • เป็นโคที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและเลี้ยงดูได้ง่าย (Adaptability)
  • เป็นโคที่มีความสามารถทางพันธุกรรมเกี่ยวกับการให้ผลผลิตและแสดงลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจสูง (Genetic ability)

เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นเพราะการเป็นโคที่สามารถให้ผลผลิตและแสดงลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นช่วยให้การลงทุนต่อหนึ่งหน่วยการผลิตได้ผลตอบแทนอย่างคุ้มค่าการเป็นโคที่สามารถให้ผลผลิตและแสดงลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องและยาวนานนั้นจะช่วยลดความเสียงและเพิ่มความมั่นใจในการวางแผนการผลิตสำหรับอนาคตการเป็นโคที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและเลี้ยงดูได้ง่ายนั้นจะช่วยให้การจัดการการผลิตสามารถทำได้ง่ายและคล่องตัวมากยิ่งขึ้นและการเป็นโคที่มีความสามารถทางพันธุกรรมเกี่ยวกับการให้ผลผลิตและแสดงลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจสูงนั้นจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้ผลิตมั่นใจได้ว่าโคนมรุ่นต่อไปในระบบการผลิตของตนจะยังคงมีความสามารถในการให้ผลผลิตดีหรือดีกว่าโคนมในรุ่นปัจจุบัน  

4) หนทางสู่ความสำเร็จเกี่ยวกับ “พันธุ์โคนมไทยในอนาคต    “

การได้มาซึ่งโคนมที่มีลักษณะดังกล่าวข้างต้นนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ลำบากมากนัก เพียงแต่จำเป็นต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ ความร่วมมือ ประสบการณ์ และเวลาจากทั้งเกษตรกร นักวิชาการ นักส่งเสริม ผู้บริหาร และนักธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตโคนมภายในประเทศไทย ข้อมูลเหตุการณ์เกี่ยวกับการพัฒนาการผลิตโคนมที่ผ่านมาในอดีต สามารถนำมาพิจารณาเป็นพื้นฐานของการเสนอ หนทางสู่ความสำเร็จในการได้มาซึ่งพันธุ์โคนมไทยในอนาคตที่มีลักษณะต่างๆ ดังกล่าว (ข้อ 4) ได้ดังต่อไปนี้

  • การสร้างความเข้าใจ ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดเก็บ และการใช้ประโยชน์จากข้อมูลฟาร์ม (data collection and utilization) ในระดับเกษตรกร

ข้อมูลเป็นทรัพยากรการผลิตที่สำคัญมากในปัจจุบัน การดำเนินกิจกรรมทุกประเภทล้วนอาศัยข้อมูลทั้งสิ้น ในทุกวันนี้ข้อมูลถูกนำจัดเก็บและนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการวางแผนการดำเนินการ การจัดการความเสียง การประเมินผลการดำเนินการ และช่วยในการปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินการ ดังนั้น เราทุกคนคงปฏิเสธได้ยากเกี่ยวกับความสำคัญของข้อมูลดังกล่าวข้างต้น แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พบมากในการผลิตโคนมของเกษตรกรไทยในปัจจุบันก็คือ ถึงแม้เกษตรกรจะเข้าใจถึงความสำคัญของการจัดเก็บข้อมูล และมีความพร้อมที่ร่วมมือในการจัดเก็บข้อมูลประเภทต่างๆ แต่พวกเขาส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าวิธีการจัดเก็บข้อมูลที่ถูกต้องนั้นควรทำอย่างไร และ/หรือไม่ทราบว่าจะนำข้อมูลที่จัดเก็บได้เหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ในระบบการผลิตโคนมของพวกเขาเองได้อย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไรดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายคงจำเป็นต้องหันมาร่วมแก้ไขปัญหาพื้นฐานเหล่านี้เป็นลำดับแรก

ภาพที่ 7 ระบบการใช้ประโยชน์จากข้อมูลฟาร์มเพื่อการพัฒนาการผลิตและศักยภาพทางพันธุกรรม

การประเมินความสามารถทางพันธุกรรมของโคนมเพื่อประโยชน์ในการคัดเลือกสัตว์พันธุ์ (พ่อแม่พันธุ์โคนม) สำหรับใช้ในการผลิตโคนมรุ่นถัดไปให้มีความสามารถทางพันธุกรรมในการให้ผลผลิตและแสดงลักษณะต่างๆ ที่สำคัญทางเศรษฐกิจดีกว่าโคนมรุ่นปัจจุบันนั้น จำเป็นต้องอาศัยข้อมูล 2ประเภท ซึ่งได้แก่

  • ข้อมูลพันธุ์ประวัติ (pedigree)
    • หมายเลขประจำตัวสัตว์: นอกเหนือจากชื่อสัตว์ที่ใช้เรียกกันทั่วไปแล้วสัตว์แต่ละตัวจำเป็นต้องได้รับการกำหนดหมายเลขเพื่อให้ทราบว่าสัตว์ตัวไหนเป็นอย่างไร การกำหนดหมาเลขประจำตัวสัตว์เป็นระบบใดก็ได้แต่ถ้าหากเป็นระบบที่รัฐบาลกำหนดได้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม ในเกษตรกรบางพื้นที่อาจมีปัญหาในกระบวนการกำหนดหมายเลขจากหน่วยงานของรัฐ เกษตรกรเหล่านั้นสามารถกำหนดระบบขึ้นมาใช้เองก็ได้ ซึ่งนอกจากจะไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อการจัดเก็บข้อมูลโดยภาครัฐแล้วยังเป็นการลดการเสียโอกาสในการจัดเก็บข้อมูลของโคเหล่านั้นด้วย เช่นกัน
    • วันเดือนปีที่สัตว์เกิด: วันเดือนปีที่สัตว์เกิดมีประโยชน์อย่างมากในการคำนวณอายุของสัตว์เพื่อใช้ในการพิจารณาในประเด็นต่างๆ ในระบบการผลิต การจดวันเดือนปีที่สัตว์เกิดจำเป็นต้องมีรูปแบบที่ชัดเจนและใช้อย่างต่อเนื่อง
    • หมายเลขพ่อ และหมายเลขแม่ของสัตว์: ข้อมูลในส่วนนี้เป็นหัวใจของการพิจารณาความสัมพันธ์ทางเครือญาติและความสามารถในการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม ทุกครั้งที่สัตว์เกิดใหม่หรือไม่ว่าจะนำสัตว์เข้ามาใช้ประโยชน์ในฟาร์มใหม่ก็ตาม ข้อมูลส่วนนี้จำเป็นต้องปรากฏเสมอ
    • ระดับสายเลือด: ระดับสายเลือดของโคพันธุ์ต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในโคนมแต่ละตัวล้วนมีความสำคัญ การจดบันทึกระดับสายเลือดพันธุ์โคต่างๆ ที่สืบทอดต่อมาจากการผสมพันธุ์พ่อและแม่พันธุ์โคนมแต่ละคู่มายังลูกแต่ละตัว จัดเป็นเครื่องมือที่สามารถใช้จำแนกความสามารถทางพันธุกรรมระหว่างพันธุกรรมที่แตกต่างกันภายในและระหว่างตัวโคแต่ละตัว ดังนั้น การจดบันทึกระดับสายเลือดพันธุ์โคต่างๆ นั้นจำเป็นต้องจดบันทึกสัดส่วนทางพันธุกรรมของพันธุ์โคต่างๆ ให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ยกตัวอย่างเช่น หากเป็นโคพันธุ์ลูกผสมโฮลไสตน์ฟรีเชี่ยน 50 เปอร์เซ็นต์ กับเรดซินดิ 50 เปอร์เซ็นต์ ผู้จดบันทึกต้องบันทึก 50%HF-50%RS หรือ 1/2HF-1/2RS ไม่ใช่เพียงแค่จดบันทึกไว้ว่า 50%HF หรือ 1/2HF เท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากในกลุ่มโคนมลูกผสมโฮลไสตน์ฟรีเชี่ยน 50 เปอร์เซ็นต์นั้น มีความหลากหลายมาก เช่น 50%HF-50%RS, 50%HF-50%BR, 50%HF-25%RS-25%BR, หรือ 50%HF-12.5%RS-37.5NA เป็นต้น การละเลยในเรื่องนี้มักไม่ส่งผลดีในระยะยาว อย่างไรก็ตาม การเริ่มต้นจดบันทึกระดับสายเลือดของโคนมที่เรามีอยู่อาจทำได้ไม่ง่ายนัก ในการดำเนินงานอาจจำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญหลายๆ ท่านเข้าไปช่วยในการจำแนกสัดส่วนทางพันธุกรรมของพันธุ์โคเหล่านั้น ด้วยเช่นกัน

ข้อมูลการให้ผลผลิตและการแสดงลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจ (performance)

    • หมายเลขประจำตัวสัตว์ที่ถูกวัดหรือประเมิน: หมายเลขประจำตัวสัตว์ที่ถูกวัดหรือประเมินค่าสำหรับลักษณะการให้ผลผลิตที่สำคัญทางเศรษฐกิจที่ปรากฏในส่วนนี้ มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อให้ทราบว่าสัตว์แต่ละตัวนั้นมีความสามารถในการแสดงออกภายนอกอย่างไร
    • วันที่ทำการวัดหรือประเมินตัวสัตว์: วันที่ (วันเดือนปี) ทำการวัดหรือประเมินตัวสัตว์เป็นข้อมูลที่ใช้บอกถึงอายุและเวลาที่สัตว์แสดงศักยภาพทางสรีระวิทยาออกมาในขณะทำการวัดหรือประเมิน วันที่ทำการวัดหรือประเมินมีความสำคัญและจำเป็นต้องได้รับการจดบันทึกทุกครั้ง การจดบันทึกเพียงเดือนที่ทำการวัดนั้นมีความระเอียดไม่เพียงพอและไม่สามารถใช้เป็นข้อมูลที่ระบุให้ทราบถึงอายุและศักยภาพทางสรีระวิทยาของตัวสัตว์ในขณะทำการวัดหรือประเมินได้
    • ค่าที่วัดได้: ความแม่นยำของค่าที่ทำการวัดหรือประเมินได้นั้นขึ้นอยู่กับวิธีและกระบวนการในการวัดและประเมินลักษณะนั้นๆ ดังนั้น เกษตรกรหรือผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บข้อมูลจำเป็นต้องศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับรายละเอียดของวิธีการวัดข้อมูลที่ถูกต้องเหมาะสม และทำการวัดด้วยความหวังที่จะใช้ประโยชน์จากค่าที่เราวัดได้เหล่านั้นให้เกิดประโยชน์ต่อระบบการผลิตของตน มิเช่นนั้นแล้ว หากข้อมูลที่มีความผิดพลาดถูกนำมาใช้ในระบบการผลิตแล้วจะก่อให้เกิดผลเสียตามมาจำนวนมาก 

การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและเหมาะสมเกี่ยวกับการคัดเลือก (selection) และการวางแผนการผสมพันธุ์ (mating plan) โคนมโดยใช้ข้อมูลความสามารถในการให้ผลผลิตที่แสดงออกภายนอกและที่เป็นผลมาจากพันธุกรรม ในระดับเกษตรกรเพื่อส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจตรงกันเกี่ยวกับการคัดเลือกและผสมพันธุ์โคนมและลดปัญหาต่างๆที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าวเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาปฏิบัติดังต่อไปนี้

  • เกษตรกรควรพยายามเลือกพ่อพันธุ์ที่มีข้อมูลของลูกที่แสดงลักษณะต่างๆ ที่ตนสนใจในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ด้วยเหตุผลบางประการ ให้เลือกใช้น้ำเชื้อพ่อพันธุ์ในประเทศที่มีลักษณะสภาพแวดล้อมหรือสภาพการจัดการฟาร์มใกล้เคียงกับการจัดการฟาร์มของตัวเกษตรกรเอง
  • เกษตรกรควรพิจารณาที่ความสามารถของพ่อพันธุ์หรือแม่พันธุ์รายตัว อย่าพิจารณาคัดเลือกเพียงกลุ่มพันธุ์ เพราะถึงแม่ว่าจะเป็นพ่อพันธุ์หรือแม่พันธุ์ที่มาจากพันธุ์เดียวกัน หรือมีสายเลือดระดับเดียวกันพ่อแม่พันธุ์เหล่านั้นก็ยังมีความสามารถที่แตกต่างกัน
  • พ่อพันธุ์และแม่พันธุ์พันธุ์แท้ไม่ทุกตัวที่ดีกว่าลูกผสม ดังนั้น การเลือกใช้พ่อพันธุ์และ/หรือแม่พันธุ์ไม่จำเป็นต้องเลือกใช้เพียงแต่พ่อแม่พันธุ์พันธุ์แท้ทุกครั้งเสมอไป
  • น้ำเชื้อพ่อพันธุ์ต่างประเทศที่มีราคาแพง ไม่ได้บ่งบอกถึง การได้มาซึ่งสัตว์รุ่นลูกที่มีความสามารถดีเด่นสมราคา เมื่อนำมาใช้จริงภายในสภาพแวดล้อมของประเทศไทยอาจไม่เป็นเช่นนั้น บนพื้นฐานของความเสี่ยงเนื่องจากการไม่มีข้อมูลผลผลิตจากลูกสาวของพ่อพันธุ์เหล่านั้นในประเทศไทยหรือในฟาร์มที่มีการจัดการเหมือนหรือคล้ายคลึงกับของเกษตรกร ในการใช้ประโยชน์จากน้ำเชื้อพันธุ์ของพ่อพันธุ์เหล่านั้นในครั้งแรก เกษตรกรไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญมากนัก เว้นแต่ จะมีข้อมูลยืนยันหรือสร้างความมั่นใจได้ว่า ท่านมีโอกาสที่จะได้รับผลประโยชน์จากความสามารถทางพันธุกรรมที่จะถ่ายทอดจากพ่อพันธุ์เหล่านั้นมายังลูกซึ่งจะเป็นโคนมในฟาร์มของท่าน
  • เกษตรกรควรบันทึกชื่อ พันธุ์ และสายเลือดของพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ รวมถึงวันที่ผสมพันธุ์ทุกครั้ง เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาคัดเลือกพ่อและแม่พันธุ์นั้นๆ อีกในอนาคต และเพื่อเก็บบันทึกเป็นพันธุ์ประวัติให้กับสัตว์รุ่นลูกที่เกิดใหม่
  • เกษตรกรควรพยายามใช้พ่อพันธุ์อย่างน้อย 2 ตัว ในการผสมพันธุ์กับแม่พันธุ์ต่างๆ ในฟาร์มในแต่ละช่วงฤดูกาลในแต่ละปี และไม่ควรเปลี่ยนพ่อพันธุ์ยกชุดในแต่ละฤดูกาลแต่ควรคงไว้ซึ่งการใช้ประโยชน์จากพ่อพันธุ์เดิมอย่างน้อย 1 ตัว เสมอ
  • ในเรื่องการวางแผนผสมพันธุ์นั้น ให้พิจารณาศักยภาพการจัดการฟาร์มของตนเองเป็นหลัก แล้วจึงวิเคราะห์ว่าควรจะเลือกพันธุกรรมโคนมพันธุ์หรือลูกผสมระดับสายเลือดเพียงไรถึงจะก่อให้ผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่าต่อการลงทุน จากนั้นจึงวางแผนการผสมพันธุ์โดยใช้พันธุกรรมของสัตว์พันธุ์ที่เกี่ยวข้อง

ตารางที่ 1 ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานสำหรับการให้ผลผลิตน้ำนม ไขมันนม และ เปอร์เซ็นต์ไขมันนม
จำแนกตามกลุ่มระดับสายเลือดโฮลสไตน์ของพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์โคนม
ในชุดข้อมูลที่รวบรวมได้จากเกษตรกรในความดูแลของ อสค.

1/ H = Holstein, O = Other breeds: Native, Brahman, Red Sindhi, Sahiwal, Jersey, Red Dane; 2/ milk yield (kg); 3/ fat yield (kg); 4/ fat percentage (%).

ที่มา Koonawootrittriron (2002)

 

  • การสนับสนุนและการให้ความร่วมมือในการประเมินความสามารถทางพันธุกรรม (genetic evaluation) ของโคนมรายตัวภายใต้สภาพแวดล้อมของประเทศไทย

การประเมินความสามารถทางพันธุกรรมโคนมเป็นกระบวนการที่ทำได้มาซึ่งข้อมูลทางพันธุกรรมสำหรับใช้ประกอบการพิจารณาคัดเลือกสัตว์พันธุ์ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวใช้ประโยชน์จากข้อมูลพันธุ์ประวัติและการแสดงลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจที่รวบรวมได้จากสัตว์แต่ละตัวบนพื้นฐานของระบบและวิธีการประเมินที่ถูกต้องและเหมาะสม ข้อมูลดังกล่าวสามารถใช้เปรียบเทียบสัตว์พันธุ์แต่ละตัวที่ถูกประเมินในชุดข้อมูลเดียวกันได้อย่างไม่ลำเอียงและมีความแม่นยำในระดับหนึ่ง ดังนั้น การประเมินความสามารถทางพันธุกรรมหรือค่าการผสมพันธุ์โคนมจึงเป็นเสมือนเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์โคนมลักษณะของการประเมินความสามารถทางพันธุกรรมโคนมสามารถจำแนกได้หลายประเภท ได้แก่ การประเมินความสามารถทางพันธุกรรมโคนมในระดับฟาร์ม พื้นที่ ประเทศ และนานาชาติ ลักษณะของการประเมินความสามารถทางพันธุกรรมนี้เองที่เป็นข้อจำกัดความสามารถในการนำสัตว์พันธุ์ (สัตว์พ่อแม่พันธุ์) มาเปรียบเทียบกัน กล่าวคือ หากการประเมินความสามารถทางพันธุกรรมโคนมทำในระดับฟาร์ม (ฟาร์มใดฟาร์มหนึ่ง) ความสามารถทางพันธุกรรมของโคนมแต่ละตัวที่อยู่ในฟาร์มนั้นก็จะสามารถนำมาเปรียบเทียบซึ่งกันและกันได้อย่างไม่ลำเอียง แต่จะไม่สามารถนำค่าที่ได้นั้นไปเปรียบเทียบกับโคนมในฟาร์มอื่นๆ ได้ เช่นเดียวกัน หากการประเมินความสามารถทางพันธุกรรมโคนมทำในระดับประเทศ (ประเทศใดประเทศหนึ่ง) ความสามารถทางพันธุกรรมของโคนมแต่ละตัวที่อยู่ในประเทศ (ชุดข้อมูลของประเทศ)นั้นสามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้อย่างไม่ลำเอียงแต่ท่านก็จะไม่สามารถนำค่าเหล่านั้นไปเปรียบเทียบกับโคนมของประเทศอื่นๆได้ที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะในการประเมินความสามารถทางพันธุกรรมโคนมแต่ละครั้งข้อมูลของโคนมที่ปรากฏในชุดข้อมูลทั้งหมดจะถูกนำมาวิเคราะห์และใช้เป็นฐานในการพิจารณาเปรียบเทียบโคนมแต่ละตัวที่ปรากฏในชุดข้อมูลนั้น ดังนั้น การเปรียบเทียบความสามารถของโคนมที่อยู่ต่างชุดข้อมูลกันจึงไม่สามารถทำได้อย่างมีเหตุผล ตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปี ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตโคนมในประเทศไทยทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น กรมปศุสัตว์ สหกรณ์โคนมองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย และฟาร์มเอกชนขนาดใหญ่บางราย เป็นต้น ให้ความสนใจในการสร้างระบบการจัดเก็บข้อมูลและการประเมินความสามารถทางพันธุกรรมของโคนมที่เลี้ยงดูในเขตการดูแลของตน ในปัจจุบันหน่วยงานดังกล่าวส่วนใหญ่ก็ยังคงพัฒนากิจกรรมที่เกี่ยวข้องเหล่านั้นอยู่ อย่างไรก็ตาม การส่งเจ้าหน้าที่ออกเก็บรวบรวมข้อมูลของโคนมในฟาร์มเกษตรกรนั้นมีข้อจำกัดทั้งในเรื่องงบประมาณและความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่จัดเก็บ ประกอบกับการดำเนินการดังกล่าวยังไม่สามารถแสดงให้เกษตรกรรู้สึกถึงความมีส่วนร่วมในกิจกรรมได้อย่างแท้จริง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่ส่งผลดีต่อการผลิตโคนมในภาพรวมระยะยาว ดังนั้น การสร้างความเข้าใจในการจัดเก็บข้อมูลที่ถูกต้อง การสร้างความสามารถในการนำข้อมูลบางประเภทมาใช้ประโยชน์ในการจัดการฟาร์มโดยไม่ต้องรอเจ้าหน้าที่และการแสดงให้เห็นถึงผลประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับจากการจัดเก็บข้อมูล และการใช้ข้อมูลความสามารถทางพันธุกรรมโคนม ในการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์โคนมจึงเป็นสิ่งจำเป็น หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน หรือแม้แต่เกษตรกรต้องหันมาพิจารณาให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวในภาวการณ์ปัจจุบันให้มากขึ้น การประเมินความสามารถทางพันธุกรรมสำหรับลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจเป็นกิจกรรมที่จำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากโครงสร้างของประชากรโคนมของประเทศไทยที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมซึ่งเป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากประชากรโคนมในประเทศอื่นๆนั้นมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ลูกของพ่อแม่พันธุ์โคนมที่พิจารณาเกิดขึ้นและแสดงลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจในฟาร์มที่มีระบบการจัดการแตกต่างกันมีจำนวนมากขึ้น ความผันแปรดังกล่าวส่งผลให้ความสามารถทางพันธุกรรมของโคนมที่ถูกนำมาประเมินใหม่ในแต่ละครั้งผันแปรได้ตลอดเวลา ดังนั้น ระบบและวิธีการประเมินค่าทางพันธุกรรมโคนมของประเทศไทยจึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาและปรับปรุงให้มีความเหมาะสมกับลักษณะของประชากรและปัจจัยต่างๆที่เป็นต้นเหตุของความผันแปรในขณะนั้น ในแง่ของการรายงานผลการประเมินความสามารถทางพันธุกรรม (ค่าการผสมพันธุ์) สำหรับการแสดงลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจของโคนม องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เป็นเพียงหน่วยงานเดียวในปัจจุบันที่รายงานข้อมูลดังกล่าวให้เกษตรกรหรือผู้ที่สนใจได้นำไปใช้ประโยชน์ในการคัดเลือกสัตว์พ่อแม่พันธุ์สำหรับการพัฒนาศักยภาพการผลิตทางพันธุกรรมของโคนมในฟาร์มของตน เหตุผลที่สำคัญประการหนึ่งซึ่งจำกัดให้หน่วยงานอื่นๆ ไม่สามารถรายงานข้อมูลดังกล่าวให้เกษตรกรสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ คือ ลักษณะของข้อมูลที่จัดเก็บ และความเชื่อมโยงระหว่างลักษณะการจัดการฟาร์มในข้อมูลที่จัดเก็บได้กับลักษณะการจัดการฟาร์มของเกษตรกรที่จะใช้ประโยชน์ ปัญหาดังกล่าวนั้นสามารถแก้ไขได้โดยการวางแผนกลยุทธ์ในการสร้างความเชื่อมโยงของข้อมูลที่เกิดขึ้นในฟาร์มต่างๆ โดยใช้พ่อพันธุ์พื้นฐาน (common bull) การรวมข้อมูลที่จัดเก็บได้จากหน่วยงานต่างๆ ให้เป็นข้อมูลของประชากรโคนมของประเทศไทย (National Dairy Information of Thailand) จะสามารถลดปัญหาดังกล่าวลงได้ และยังช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมมีเครื่องมือสำหรับใช้ในการคัดเลือกพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพและแม่นยำมากยิ่งขึ้น การวางแผนการพัฒนาศักยภาพทางพันธุกรรมและการให้ผลผลิตของโคนมระดับชาติจะสามารถทำได้ง่ายมีประสิทธิภาพ และเป็นไปในทิศทางที่ควบคุมได้มากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุผลดังกล่าวหน่วยงานต่างๆและเกษตรกรจำเป็นที่จะต้องสร้างความเข้าใจและข้อตกลงร่วมกันในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวให้เกิดขึ้นจริงในเชิงปฏิบัติ เพื่อให้ได้มาซึ่งพันธุ์โคนมไทยในอนาคตที่มีศักยภาพในการให้ผลผลิตสูงในปัจจุบัน เราคงปฏิเสธได้ยากว่าเกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจและสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลความสามารถทางพันธุกรรมโคนม (ค่าการผสมพันธุ์ หรือ EBV) ไม่ว่าจะเป็นที่รายงานจากหน่วยงานภายในประเทศไทยหรือจากต่างประเทศ ความไม่รู้ดังกล่าวจัดเป็นความเสี่ยงในการลงทุน ซึ่งกว่าจะเห็นผลของการคัดเลือกหรือเลือกใช้น้ำเชื้อเหล่านั้นก็ใช้เวลาประมาณ 3 ปี สำหรับลักษณะการให้ผลผลิตน้ำนม ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตโคนมรวมทั้งตัวเกษตรกรเองจำเป็นต้องเร่งพัฒนาและสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลความสามารถทางพันธุกรรมโคนม เพื่อการคัดเลือกสัตว์พันธุ์เพื่อให้การพัฒนาพันธุกรรมโคนมไทยในอนาคตสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากและเห็นผลลัพธ์รวดเร็วยิ่งขึ้น

  • การประยุกต์เทคโนโลยีร่วมสมัยมาเร่งและขยายผลของการปรับปรุงพันธุ์ให้เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่างๆในปัจจุบัน เช่น เทคโนโลยีการย้ายฝากตัวอ่อน การถ่ายฝากยีน การโคลน เป็นต้น ล้วนมีบทบาทสำคัญต่อการเร่งและขยายผลของการปรับปรุงพันธุ์ให้เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ในแง่ของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการขยายพันธุ์หรือเพิ่มจำนวนสัตว์พันธุ์ผู้ปฏิบัติงานจำเป็นต้องตระหนักและให้ความสำคัญต่อการดำเนินการกับสัตว์ที่มีพันธุกรรมที่มีศักยภาพแท้จริงเท่านั้น มิเช่นนั้นแล้วการดำเนินงานดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มพันธุกรรมสัตว์ที่ไม่พึงประสงค์ให้เกิดขึ้นในประชากรจำนวนมาก

5) สรุป

ความคาดหวังเกี่ยวกับลักษณะของ “พันธุ์โคนมไทยในอนาคต” นั้นเปิดเสรีให้ทุกคนได้คิดอย่างอิสระ อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นส่วนใหญ่คงจะเห็นด้วยกับการได้มาซึ่งลักษณะความสามารถที่สอดคล้องกับการเป็นหน่วยผลิตที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจการผลิตโคนมสามารถอยู่รอดและแข่งขันได้ในสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมได้ ประเด็นที่สำคัญในเอกสารฉบับนี้ ไม่ได้เน้นที่ลักษณะคาดหวังของ “พันธุ์โคนมไทยในอนาคต” แต่เป็นแนวทางในการได้มาซึ่ง “พันธุ์โคนมไทยในอนาคต” การได้รับความร่วมมือและสนับสนุนในเชิงปฏิบัติจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตโคนมทุกฝ่าย (เกษตรกร หน่วยงานรัฐบาล เอกชน สถาบันการศึกษา ตลอดจนผู้สนใจ) จะช่วยให้ประเทศไทยมี “พันธุ์โคนมไทยในอนาคต” ตามที่ต้องการได้อย่างรวดเร็วและมีทิศทางที่แน่นอน