สภาวะการณ์ของจำนวนเซลล์โซมาติกในน้ำนมของโคนมที่ถูกเลี้ยงดูในเขตภาคกลางของประเทศไทย

ดนัย จัตวา, สุภาวดี แหยมคง, มัทนียา สารกุล, ธนาทิพย์ สุวรรณโสภี,
Mauricio A. Elzo, ธรรมนูญ ทองประไพ และ ศกร คุณวุฒิฤทธิรณ

เต้านมอักเสบ (Mastitis) จัดเป็นปัญหาที่สำคัญในอุตสาหกรรมการผลิตโคนมในประเทศไทย เพราะนอกจากจะส่งผลเสียต่อสุขภาพของแม่โครีดนมแล้ว ยังส่งผลให้น้ำนมที่ผลิตได้มีคุณภาพต่ำ ในขณะที่แม่โคที่เป็นโรคเต้านมอักเสบและอยู่ระหว่างการรักษา เกษตรกรยังจำเป็นต้องหยุดส่งน้ำนมของแม่โคตัวนั้น ส่งผลให้ฟาร์มเสียโอกาสในการได้รายได้จากการจำหน่ายน้ำนมดิบและยังเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรด้วย เช่นกัน

ในปัจจุบัน จำนวนเซลล์โซมาติก (Somatic cell) ที่ปรากฏในน้ำนมมักถูกนำมาใช้เป็นตัวบ่งชี้ถึง ปัญหาเต้านมอักเสบของโคนม ซึ่งโดยทั่วไปเต้านมที่มีสุขภาพสมบูรณ์ควรมีจำนวนเซลล์โซมาติกน้อยกว่า 200,000 เซลล์/มิลลิลิตร และถ้าพบจำนวนเซลล์โซมาติกมากกว่า 400,000 เซลล์/มิลลิลิตร ก็จะถือได้ว่าโคตัวนั้นเป็นโรคเต้านมอักเสบ (ชนิดไม่แสดงอาการ) ด้วยเหตุนี้ จำนวนเซลล์โซมาติกจึงถูกนำมาใช้เป็น “ตัวชี้วัดคุณภาพของน้ำนม” ที่ผลิตได้ในแต่ละฟาร์ม และยังถูกนำมาใช้ “กำหนดราคารับซื้อน้ำนมดิบ” โดยสหกรณ์หรือศูนย์รับซื้อน้ำนมดิบ ด้วยเหตุนี้ ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ (กรุงเทพฯ) จึงได้ร่วมมือกับองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) และมหาวิทยาลัยฟลอริดา (ประเทศสหรัฐอเมริกา) ศึกษาวิจัยเพื่อประเมินสถานการณ์ในภาพรวม และจำแนกปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความผันแปรของจำนวนเซลล์โซมาติกในน้ำนมดิบ (ระดับฟาร์ม) ที่ผลิตได้โดยเกษตรกรในเขตภาคกลางของประเทศไทย

ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วย 1) จำนวนเซลล์โซมาติกในน้ำนมรายเดือน จำนวน 17,449 ข้อมูล ที่รวบรวมได้จากเกษตรกร จำนวน 497 ราย ในเขตภาคกลางของประเทศไทย ในช่วงปี พ.ศ. 2547 ถึง พ.ศ. 2551 และ 2) ลักษณะของฟาร์มและเกษตรกรเจ้าของฟาร์มที่รวบรวมได้จากแบบสอบถามและการสำรวจ โดยปัจจัยที่พิจารณาประกอบด้วย 1) ปีและฤดูกาลผลิตน้ำนม, 2) ขนาดของฟาร์ม [ฟาร์มขนาดเล็กซึ่งมีโครีดนม < 10 ตัว/วัน, ฟาร์มขนาดกลาง ซึ่งมีโครีดนม 10 ถึง 19 ตัว/วัน และฟาร์มขนาดใหญ่ ซึ่งมีโครีดนม > 19 ตัว/วัน] และที่ตั้งฟาร์ม [มวกเหล็ก วังม่วง พัฒนานิคม และปากช่อง], 3) ระดับการศึกษา [ไม่ได้ศึกษา, ประถมศึกษา, มัธยมศึกษา, และปริญญาตรีหรือสูงกว่า], 4) ความยาวนานในอาชีพการเลี้ยงโคนม [จำนวนปีนับตั้งแต่เริ่มเลี้ยงโคนม], 5) การจดบันทึกข้อมูล [มีและไม่มีการจดบันทึกข้อมูล], 6) แรงงาน [แรงงานครอบครัว จ้างแรงงาน และแรงงานครอบครัวและจ้างแรงงาน] และ 7) ฟาร์มแต่ละฟาร์ม

ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า น้ำนมดิบที่ผลิตได้โดยเกษตรกรในเขตภาคกลางของประเทศไทยมี จำนวนเซลล์โซมาติกเฉลี่ย 431,980 เซลล์/มิลลิลิตร หรือ อยู่ในช่วง 62,000 ถึง 3,935,000 เซลล์/มิลลิลิตร ทั้งนี้มีข้อสังเกตที่สำคัญ คือ ในแต่ละปีและฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไป จำนวนเซลล์โซมาติกที่พบในน้ำนมดิบที่ผลิตได้โดยเกษตรกร ในเขตภาคกลางของประเทศไทยในแต่ละฟาร์มมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (P < 0.05) ในอัตรา 5.99 ± 1.59 เซลล์/มิลลิลิตร/ปี-ฤดูกาล นับตั้งแต่ พ.ศ. 2547 ถึง พ.ศ. 2551 (ภาพที่ 1)

 ภาพที่ 1 แนวโน้มจำนวนเซลล์โซมาติกในน้ำนมดิบที่ผลิตได้จากเกษตรกรในเขตภาคกลาง

จำนวนเซลล์โซมาติกที่พบในน้ำนมดิบที่ผลิตได้ในระดับฟาร์มของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม (ในเขตภาคกลางของประเทศไทย) ได้รับอิทธิพลจากความแตกต่างของปีและฤดูกาลที่ผลิตน้ำนม ขนาดของฟาร์มและที่ตั้งฟาร์ม ความยาวนานในอาชีพการเลี้ยงโคนม การจดบันทึกข้อมูล และประเภทของแรงงาน ในทุกพื้นที่ที่ศึกษา (ยกเว้นวังม่วง; ภาพที่ 2) ฟาร์มขนาดใหญ่ (โครีดนม > 19 ตัว/วัน; 406,100 ถึง 776,110 เซลล์/มิลลิลิตร) มีจำนวนเซลล์โซมาติก สูงกว่า ฟาร์มที่มีขนาดกลาง (โครีดนม 10 ถึง 19 ตัว/วัน; 347,650 ถึง 579,750 เซลล์/มิลลิลิตร) และเล็ก (โครีดนม < 10 ตัว/วัน; 346,190 ถึง 514,550 เซลล์/มิลลิลิตร) ตามลำดับ ลักษณะเช่นนี้ อาจเป็นผลมาจากความสามารถในการบริหารจัดการคุณภาพของแรงงาน ดูแลสุขภาพและการรีดนมโคนมรายตัว ที่ฟาร์มขนาดใหญ่อาจทำได้อย่างมีประสิทธิภาพน้อยกว่าฟาร์มขนาดกลางและเล็ก การเพิ่มระดับความเอาใจใส่และควบคุมคุณภาพของแรงงานและการจัดการฟาร์ม อาจช่วยลดปัญหาจำนวนเซลล์โซมาติกที่มีอยู่ในน้ำนมดิบ

ภาพที่ 2 จำนวนเซลล์โซมาติกในน้ำนมดิบที่ผลิตได้จากเกษตรกรในแต่ละฟาร์มจำแนกตามพื้นที่

ฟาร์มที่มีการจดบันทึกข้อมูล (21% ของจำนวนฟาร์มทั้งหมด) สามารถผลิตน้ำนมดิบที่มีจำนวนเซลล์โซมาติก (445,630 เซลล์/มิลลิลิตร) น้อยกว่าฟาร์มที่ไม่มีการจดบันทึกข้อมูล (79% ของจำนวนฟาร์มทั้งหมด, 475,180 ± 1.08 เซลล์/มิลลิลิตร) ลักษณะเช่นนี้ (ภาพที่ 3) ชี้ให้เห็นว่า ข้อมูลที่จดบันทึกอาจมีส่วนช่วยให้เกษตรกรสามารถเฝ้าระวัง และป้องกันปัญหาจำนวนเซลล์โซมาติกในน้ำนมดิบที่ผลิตได้ในแต่ละวัน ดังนั้น การส่งเสริมและให้ความสำคัญต่อการจัดเก็บข้อมูลระดับฟาร์มจึงยังคงเป็นสิ่งจำเป็นและควรได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการจัดเก็บข้อมูลฟาร์มนอกจากจะช่วยลดปัญหาเซลล์โซมาติกแล้ว เกษตรกรยังสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่จัดเก็บในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในรูปแบบต่างๆ ได้เช่นกัน

ภาพที่ 3 จำนวนเซลล์โซมาติกในน้ำนมดิบที่ผลิตได้จากเกษตรกรในแต่ละฟาร์มจำแนกการจดและไม่จดบันทึกข้อมูลในฟาร์ม

น้ำนมดิบที่ผลิตได้จากฟาร์มที่ใช้แรงงานจากการจ้างแรงงาน มีจำนวนเซลล์โซมาติกสูงที่สุด (492,060 เซลล์/มิลลิลิตร) รองมา ได้แก่ การใช้แรงงานจากครอบครัวและจ้างแรงงาน (447,510 เซลล์/มิลลิลิตร) และการใช้แรงงานจากครอบครัว (442,530 เซลล์/มิลลิลิตร) ตามลำดับ ลักษณะเช่นนี้อาจมีความสัมพันธ์กับคุณภาพของการปฏิบัติงานที่แตกต่างกัน ระหว่างแรงงานทั้งสองประเภท (จากบุคคลภายในครอบครัว และจากการจ้างงาน) การเพิ่มความมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการดำเนินงาน และการพัฒนาฝีมือแรงงานจากการจ้างงานอาจช่วยลดปัญหาดังกล่าว

ภาพที่ 4 จำนวนเซลล์โซมาติกในน้ำนมดิบที่ผลิตได้จากเกษตรกรในแต่ละฟาร์มจำแนกตามประเภทแรงงาน

โดยสรุป จำนวนเซลล์โซมาติกที่มีจำนวนสูงเกินกว่าระดับมาตรฐานนั้นไม่ส่งผลดีต่อทั้งคุณภาพน้ำนม สุขภาพของโคนม และโอกาสของเกษตรกรในการได้มาซึ่งผลกำไรจากการประกอบอาชีพการเลี้ยงโคนม นอกจากนี้ “ปัญหาเซลล์โซมาติกส่วนใหญ่เป็นผลมาจากคุณภาพของการจัดการฟาร์มและสุขภาพของโค ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการตัดสินใจ ปฏิบัติ และเอาใจใส่ของผู้เลี้ยงหรือตัวของเกษตรกรมากกว่าสิ่งใด” อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวสามารถป้องกันได้ด้วย “การเพิ่มความเอาใจใส่และให้ความสำคัญต่อการจัดการฟาร์ม (เช่น การดูแลความสะอาดของคอก โรงเรือน และการรีดนม) และสุขภาพโค” ให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพภายในฟาร์มของตนเอง และในระยะยาวการคัดเลือกโคนมที่มีความสามารถทางพันธุกรรมสำหรับการให้ผลผลิตน้ำนมที่ดี และมีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับจำนวนเซลล์โซมาติกน้อย (ให้ผลผลิตดีและมีสุขภาพดี ภายใต้สภาพแวดล้อมของประเทศไทย) อาจช่วยเสริมให้การป้องกันปัญหาดังกล่าวสามารถทำได้อย่างมีผลสัมฤทธิ์มากยิ่งขึ้น