การปรับปรุงพันธุ์และการเลือกใช้น้ำเชื้อพ่อพันธุ์โคนม (ตอนที่ 1)

ผู้แต่ง: ผศ.ดร.ศกร คุณวุฒิฤทธิรณ

ในการผลิตสัตว์ การคัดเลือกสัตว์พ่อ-แม่พันธุ์เพื่อจับคู่ผสมพันธุ์ซึ่งกันและกันเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการได้มาซึ่งสัตว์รุ่นลูกที่มีลักษณะที่พึงประสงค์ดีกว่าสัตว์รุ่นพ่อ-แม่ ในปัจจุบัน เทคโนโลยีด้านการผสมเทียมได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็วและเป็นที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวางในการขยายพันธุ์สัตว์ น้ำเชื้อพันธุ์สัตว์จำนวนมากได้รับการผลิตเพื่อเสนอให้เกษตรกรได้มีโอกาสเลือกใช้อย่างมากมาย อย่างไรก็ตาม จากความเป็นจริงที่ว่า “ สัตว์ที่มาจากต่างกลุ่มพันธุ์กันมีความสามารถทางพันธุกรรมแตกต่างกัน และสัตว์แต่ละตัวถึงแม้ว่าอยู่ในกลุ่มพันธุ์เดียวกันก็มีความแตกต่างในความสามารถทางพันธุกรรมซึ่งกันและกัน” หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ “ สัตว์แต่ละตัวมีความสามารถทางพันธุกรรมแตกต่างกัน” เกษตรกรจึงจำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานในการเลือกใช้น้ำเชื้อพันธุ์สัตว์เหล่านั้น เพื่อให้การผสมพันธุ์สัตว์ที่ตนเองมีอยู่แต่ละครั้งนั้นได้มาซึ่งสัตว์ที่เราพึงประสงค์มากที่สุด

โดยธรรมชาติ ลักษณะที่แสดงออกภายนอกของสัตว์แต่ละตัวเป็นผลมาจากอิทธิพลทางพันธุกรรมที่ได้รับมาจากพ่อและแม่ และจากอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมที่สัตว์เหล่านั้นได้รับ ดังนั้นในจับคู่ผสมพันธุ์ให้กับสัตว์ที่เราครอบครองอยู่จึง มักจะพิจารณาถึงความสามารถทางพันธุกรรมที่มาจากสองส่วน คือ 1) จากแม่พันธุ์ที่เรามีอยู่ และ 2) จากพ่อพันธุ์ที่เราจะเลือกใช้ ทั้งนี้โดยคาดหวังอย่างหยาบๆ ว่า ลูกสัตว์ที่เกิดขึ้นใหม่นั้นจะมีความสามารถทางพันธุกรรมของตนเอง เป็น “ครึ่งหนึ่งของผลรวมของความสามารถทางพันธุกรรมที่มาจากพ่อและแม่พันธุ์แต่ละคู่ที่นำมาผสมพันธุ์กัน” นั่นเอง การพิจารณาเช่นนี้ทำได้ไม่ยาก หากเราเข้าใจและมีข้อมูลความสามารถทางพันธุกรรมของทั้งพ่อและแม่พันธุ์ที่เราจะเลือกใช้ อย่างไรก็ตาม โดยความเป็นจริงในเชิงปฏิบัติเกษตรกรในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังขาดความรู้และความเข้าใจในการคัดเลือกสัตว์ที่จะใช้เป็นพ่อพันธุ์ผสมกับแม่พันธุ์ที่ตนเองมีอยู่ สำหรับการผลิตลูกรุ่นต่อไปให้มีความสามารถในการผลิตสูงกว่าสัตว์รุ่นปัจจุบัน บทความนี้จึงได้ถูกเรียบเรียงขึ้น เพื่อทบทวนความรู้และความเข้าใจในการปรับปรุงพันธุ์ การคัดเลือกและการจับคู่ผสมพันธุ์เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตโคนม ตลอดจนเทคนิคการพิจารณาข้อมูลและการปฏิบัติเกี่ยวกับการจับคู่ผสมพันธุ์โคนมเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตทางพันธุกรรม

หลักและความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการปรับปรุงพันธุ์สัตว์

การพัฒนาศักยภาพทางพันธุกรรมหรือที่เราคุ้นเคยกับคำว่า“ การปรับปรุงพันธุ์” นั้นจัดเป็น “การจัดการทางพันธุกรรมโดยหวังผลให้ได้สัตว์รุ่นลูก (โดยเฉลี่ย) สามารถแสดงลักษณะที่พึงประสงค์ดีกว่าค่าเฉลี่ยของสัตว์รุ่นพ่อแม่” การปรับปรุงพันธุ์นั้นไม่ไช่วิธีการที่สามารถทำให้สัตว์รุ่นลูก “ทุกตัว” มีพันธุกรรมดีกว่าสัตว์รุ่นพ่อแม่ แต่เป็นการกระทำที่สามารถช่วยให้ “กลุ่มของสัตว์รุ่นลูก” นั้นมีความสามารถในการแสดงลักษณะที่ปรารถนา “โดยเฉลี่ย” ดีกว่า “กลุ่มของสัตว์พันธุ์รุ่นพ่อแม่” ด้วยความเป็นจริงทางธรรมชาติของการถ่ายทอดทางพันธุกรรม สัตว์รุ่นลูกที่เกิดใหม่แต่ละตัวยังคงมีลักษณะได้ทั้งที่ “ดีสมปรารถนา” และ “ด้อยกว่าที่ต้องการ” อยู่กระจัดกระจายกันไปเช่นเดียวกับที่ปรากฏในประชากรสัตว์รุ่นพ่อแม่ และนี่ก็คือเหตุผลหนึ่งที่อธิบายถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการคัดเลือกในทุกๆ รุ่น แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าหากพิจารณาโดยภาพรวมแล้วสัตว์รุ่นลูกเหล่านั้นควรจะมีลักษณะโดยเฉลี่ยดีกว่ารุ่นพ่อแม่ ถึงจะเรียกได้ว่าสัตว์รุ่นลูกมีพันธุกรรมที่ได้รับการปรับปรุงให้ดีกว่ารุ่นพ่อแม่

ภาพที่ 1 ผลตอบสนองต่อการคัดเลือกหรือความก้าวหน้าทางพันธุกรรมของสัตว์รุ่นลูกเปรียบเทียบกับสัตว์รุ่นพ่อแม่ ในการพัฒนาพันธุกรรมสำหรับลักษณะใดๆ

ในเชิงของการปรับปรุงพันธุ์ การจัดการทางพันธุกรรม จัดเป็นกระบวนการที่เอื้อให้พันธุกรรมของสัตว์พ่อพันธุ์ (ในอสุจิ) และแม่พันธุ์ (ในไข่) มีโอกาสมารวมตัวกันเป็นพันธุกรรมของลูกสัตว์ การจัดการทางพันธุกรรมนี้สื่อให้เห็นถึงทั้ง “ การผสมพันธุ์” ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติและที่เกิดขึ้นโดยมนุษย์ (เช่น การผสมเทียม การผสมพันธุ์ในหลอดแก้ว และเทคโนโลยีการผสมพันธุ์อื่นๆ เป็นต้น) แต่เนื่องจาก การจัดการทางพันธุกรรมโดยนัยที่กล่าวถึงนี้มีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ไปที่การได้มาซึ่งสัตว์รุ่นลูก (โดยเฉลี่ย) ที่สามารถแสดงลักษณะที่พึงประสงค์ (ลักษณะที่ปรับปรุงพันธุ์) ดีกว่าค่าเฉลี่ยของพ่อแม่ ดังนั้น การจัดการทางพันธุกรรมจึงจำเป็นต้องกระทำกับสัตว์พ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ที่ผ่าน “การคัดเลือก” และได้พิจารณาแล้วว่ามีลักษณะหรือพันธุกรรมที่ดี ที่พึงปรารถนา หรือเป็นที่น่าพอใจแล้วเท่านั้น การจัดการทางพันธุกรรมระหว่างสัตว์พันธุ์นั้นเหล่านั้นจึงจะส่งผลให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการพัฒนาศักยภาพทางพันธุกรรมของสัตว์รุ่นต่อมาได้

ด้วยธรรมชาติของการถ่ายทอดทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นโดยสุ่ม และในปัจจุบันก็ยังไม่มีเทคโนโลยีใดที่สามารถนำมาใช้บังคับให้ “พันธุกรรมในทุกตำแหน่งของโครโซมทุกคู่” สามารถเข้าคู่กันและแสดงอำนาจทางพันธุกรรมออกมาเป็นลักษณะที่ปรากฏตามที่เราปรารถนาได้ในทุกๆ กรณี (ในปัจจุบัน สามารถทำได้กับพันธุกรรมที่อยู่บนตำแหน่งบางส่วนของโครโมโซมเท่านั้น และมีต้นทุนในการดำเนินงานสูงมาก) ดังนั้น หากผู้ผลิตปรารถนาที่จะได้สัตว์ที่มีลักษณะหรือพันธุกรรมเช่นไรมาใช้ในระบบการผลิต ผู้ผลิตก็คงจำเป็นต้องสรรหาหรือคัดเลือกสัตว์เหล่านั้นมาใช้ หรือไม่ก็พัฒนาหรือปรับปรุงพันธุกรรมของสัตว์ที่ตนเองมีอยู่ให้มีลักษณะเป็นไปตามสิ่งที่ตนปรารถนา

ในการจัดการทางพันธุกรรม “การคัดเลือก” จัดเป็น “วิธีการที่กำหนดให้สัตว์ตัวใดก็ตามที่มีคุณสมบัติดีเพียงพอ จะได้รับโอกาสให้ผสมพันธุ์หรือถ่ายทอดพันธุกรรมที่ดีที่ตนเองมีอยู่นั้นไปยังสัตว์รุ่นลูก” หรืออีกนัยหนึ่ง การคัดเลือกนั้นจัดเป็นวิธีการจัดการที่ช่วยให้สัดส่วนของพันธุกรรมที่พึงปรารถนาในกลุ่มสัตว์รุ่นลูก มีลักษณะเป็นไปตามที่ผู้ผลิตต้องการ ในทางตรงกันข้าม “การคัดทิ้ง” เป็น “การกำหนดให้สัตว์ที่มีคุณสมบัติไม่พึงปรารถนา ไม่ได้รับโอกาสให้ผสมพันธุ์หรือถ่ายทอดพันธุกรรมที่เหล่านั้นไปยังสัตว์รุ่นลูก” ได้ การคัดทิ้งจึงไม่ได้สื่อความหมายว่า สัตว์แต่ละตัวที่ถูกคัดทิ้งนั้นจะต้องถูกนำไปฆ่าในทันที แต่มีความหมายรวมไปถึง การนำกลุ่มสัตว์ที่ถูกคัดทิ้งนั้นไปใช้ประโยชน์รูปแบบอื่นๆ ในระบบการผลิต นอกเหนือไปจาการผสมพันธุ์เพื่อการปรับปรุงพันธุ์

ในความเป็นจริงของความหลากหลายทางชีววิทยาตามธรรมชาตินั้น“ ไม่มีสัตว์ตัวใดที่สามารถแสดงลักษณะทุกลักษณะออกมาได้ดีโดยสมบูรณ์เหนือกว่าสัตว์ตัวอื่นๆ” สัตว์แต่ละตัวล้วนมีความดีเด่นแตกต่างกันไปในแต่ละลักษณะ เช่น การเจริญเติบโต ประสิทธิภาพการสืบพันธุ์ รูปร่าง การให้ผลผลิต หรือ คุณภาพซาก เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ “ความสามารถหรือความแม่นยำในการคัดเลือก”สัตว์พ่อแม่พันธุ์ที่มีลักษณะที่พึงประสงค์มาใช้ประโยชน์ในการผสมพันธุ์ และการพิจารณาถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจาก “ความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะที่จะทำการปรับปรุงพันธุ์และลักษณะอื่นๆ” จึงมีบทบาทสำคัญต่อความสัมฤทธิ์ผลและความก้าวหน้าในการปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้ได้มาซึ่งสัตว์ที่มีลักษณะตามที่ตนปรารถนา

ส่วน“การผสมพันธุ์” นั้นจัดเป็น “วิธีการที่กำหนดให้สัตว์พ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ที่มีคุณสมบัติดีตามที่ปรารถนา (ผ่านการคัดเลือกมาแล้ว) ได้ผสมพันธุ์กัน เพื่อทำให้พันธุกรรมที่ดีที่อยู่ในเซลล์สืบพันธุ์ของพ่อพันธุ์ (อสุจิ) และแม่พันธุ์ (ไข่) เหล่านั้นได้รวมตัวกัน (ปฏิสนธิ) เป็นพันธุกรรมของสัตว์รุ่นลูก และแสดงอำนาจทางพันธุกรรมออกมาเป็นไปตามที่ผู้ผลิตต้องการ” ในเชิงของการปรับปรุงพันธุ์นั้น การผสมพันธุ์ ถูกจัดให้เป็น “ เครื่องมือ” ที่มีส่วนช่วยให้พันธุกรรมของสัตว์พ่อและแม่พันธุ์ที่คัดเลือก (ที่พึงปรารถนา) สามารถถ่ายทอดไปยังสัตว์รุ่นลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

โดยนัยของการปรับปรุงพันธุ์ การผสมพันธุ์ไม่ได้เป็นวิธีการที่หวังผลในการทำให้แม่พันธุ์ “ผสมติด” และ “คลอดลูก” ออกมาได้เท่านั้น แต่ยังต้องการให้ “พันธุกรรมของพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ที่นำมาผสมพันธุ์กันนั้นสามารถเข้าคู่กัน และแสดงศักยภาพทางพันธุกรรมออกมาได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพสูงสุดในสัตว์รุ่นลูก” ด้วยเหตุนี้ การพิจารณาแต่เพียงว่า การผสมพันธุ์ระหว่างพ่อและแม่พันธุ์สัตว์ครั้งนั้นๆ จะสามารถทำให้แม่พันธุ์ตัวนั้นผสมติดและให้ลูกออกมาได้มากน้อยเพียงไร (ซึ่งเป็นเรื่องของการพิจารณาถึงความสำเร็จในการผสมพันธุ์ ความสมบูรณ์พันธุ์ และความสามารถของแม่พันธุ์ มากกว่า การถ่ายทอดทางพันธุกรรมของแม่พันธุ์ไปยังลูก) จึงไม่ตรงประเด็นนักต่อของการพิจารณาด้านการปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งโดยแท้จริงแล้วผู้ผลิตควรพิจารณาด้วยว่า “การผสมพันธุ์ระหว่างพ่อ-แม่พันธุ์ที่คัดเลือกแต่ละคู่นั้นจะได้ลูกโดยรวมออกมามีลักษณะที่พึงปรารถนาดีเด่นกว่าพ่อแม่เพียงไร”

ด้วยการดำเนินงานต่างๆ ในการปรับปรุงพันธุ์ล้วนมีจุดมุ่งหมายให้พันธุกรรมของสัตว์รุ่นลูกได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นมากกว่าสัตว์รุ่นพ่อแม่ การทดสอบผลลัพธ์ของการดำเนินงานว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ปรับปรุง หรือการดำเนินงานปรับปรุงพันธุ์สำหรับลักษณะนั้นๆ ได้รับผลตอบสนอง หรือมีความก้าวหน้าทางพันธุกรรมมากหรือน้อยเพียงไรนั้น สามารถทำได้โดยการเปรียบเทียบความแตกต่างของ “ ค่าเฉลี่ย” ในการแสดงลักษณะนั้นๆ ระหว่าง “กลุ่มของสัตว์รุ่นลูก” และ “กลุ่มของสัตว์รุ่นพ่อแม่” ซึ่งถ้าหากสัตว์ทั้งสองกลุ่มมีความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยของลักษณะที่ปรับปรุงพันธุ์มาก ก็อาจแสดงได้ว่า ลักษณะที่แสดงออกโดยสัตว์รุ่นลูกนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปจากรุ่นพ่อแม่มาก ในทำนองเดียวกัน ถ้าหากความแตกต่างของค่าเฉลี่ยระหว่างกลุ่มเกิดขึ้นน้อย ก็อาจแสดงได้ว่า ลักษณะที่แสดงออกโดยสัตว์รุ่นลูกนั้นไม่แตกต่างไปจากรุ่นพ่อแม่มากนัก

สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการปรับปรุงพันธุ์ คือ “ข้อมูลพันธุ์ประวัติและสมรรถภาพการแสดงออกสำหรับลักษณะที่สนใจ” ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าในการปรับปรุงพันธุ์สัตว์สำหรับลักษณะใดๆ นั้น “ผู้ผลิตจำเป็นต้องประเมินหรือมีข้อมูลความสามารถในการแสดงออกสำหรับลักษณะที่สนใจของสัตว์แต่ละตัว ผู้ผลิตจึงจะสามารถคัดเลือกสัตว์ที่มีคุณสมบัติตรงตามที่ตนต้องการได้ จากนั้นจึงนำสัตว์ที่คัดเลือกแล้วมาผสมพันธุ์กันตามแผนผสมพันธุ์ที่กำหนดไว้ ซึ่งแผนการผสมพันธุ์ที่กำหนดขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากการพิจารณาข้อมูลโครงสร้างของประชากรที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธุ์ระหว่างตัวสัตว์ และความสามารถในการแสดงออกสำหรับลักษณะที่ทำการปรับปรุงของสัตว์ทั้งประชากรในขณะนั้น นอกจากนี้ เมื่อได้สัตว์รุ่นลูกออกมาแล้วผู้ผลิตก็ยังจำเป็นต้องประเมินความสามารถของลูก (รายตัว) อีกครั้งหนึ่ง เพื่อประเมินว่าสัตว์รุ่นลูกนั้นมีความสามารถดีกว่ารุ่นพ่อแม่หรือไม่ และเพื่อใช้ประโยชน์ในการคัดเลือกสัตว์รุ่นลูกขึ้นทดแทนสัตว์พันธุ์รุ่นพ่อแม่ด้วยเช่นกัน ลักษณะการปฏิบัติดังกล่าวข้างต้น (คัดเลือก ผสมพันธุ์ และประเมินความสามารถ) จะถูกดำเนินการหมุนเวียนวนรอบไปเรื่อยๆ จนกว่าสัตว์ในรุ่นถัดมาจะมีคุณสมบัติตรงตามวัตถุประสงค์ของการปรับปรุงพันธุ์หรือตามที่ผู้ผลิตปรารถนา” ด้วยเหตุนี้ ถ้าหากผู้ผลิตไม่มีข้อมูลหรือระบบการจัดเก็บข้อมูลที่ดี ก็คงไม่สามารถนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในดำเนินการปรับปรุงพันธุ์ขั้นตอนต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การพิจารณาสิ่งต่างๆ โดยใช้ความรู้สึกหรือข้อมูลที่ถูกต้องหรือสมบูร์จะส่งผลทำให้ “ ความแม่นยำในการคัดเลือก” ต่ำ และเมื่อความแม่นยำในการคัดเลือกต่ำความสำเร็จและประสิทธิภาพการปรับปรุงพันธุ์จึงอยู่ในระดับต่ำตามไปด้วยเช่นกันข้อมูลพันธุ์ประวัติและสมรรถภาพการแสดงออกสำหรับลักษณะใดๆ ที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ไม่ได้มีความสำคัญแต่เพียงการใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงพันธุ์ (เช่นที่หลายคนรู้สึกในปัจจุบัน) แต่ยังมีประโยชน์สำหรับการประเมินผล การพิจารณาจุดอ่อน-จุดแข็ง การวางแผนและการกำหนดนโยบาย ทั้งทางด้านการผลิต การตลาด และการป้องกันความเสี่ยงในด้านต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละช่วงของการผลิตในแต่ละปี ดังนั้น ก่อนการตัดสินใจปรับปรุงพันธุ์สำหรับลักษณะใดๆ ในระบบการผลิต ผู้ผลิตอาจจำเป็นต้องพิจารณาความพร้อมในเรื่อง “ข้อมูลและการจัดเก็บข้อมูล” เป็นเบื้องต้น มิเช่นนั้นแล้ว การปรับปรุงพันธุ์คงจำเป็นต้องดำเนินการบนพื้นฐานของความรู้สึก การเดา และความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น และสุดท้ายส่งผลให้เกิดความอึดอัดใจและข้อสงสัยในผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น

ขั้นตอนการปฏิบัติในการปรับปรุงพันธุ์สัตว์สำหรับลักษณะใดๆ นั้นเริ่มต้นจากการที่ผู้ผลิตและผู้ที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้อง “1) กำหนดวัตถุประสงค์ของการปรับปรุงพันธุ์” ของสัตว์ในระบบการผลิตของตนให้ได้เสียก่อน จากนั้นจึงพิจารณา“2) วางแผนการปรับปรุงพันธุ์” ซึ่งเกี่ยวข้องกับแผนในการปฏิบัติ “3) การคัดเลือกสัตว์พันธุ์ (พ่อพันธุ์ และแม่พันธุ์)” และแผนหรือรูปแบบ “4) การผสมพันธุ์” หรือการจับคู่ผสมพันธุ์ระหว่างสัตว์พ่อและแม่พันธุ์ที่จะเอื้อประโยชน์ให้ผู้ผลิตได้ใช้ประโยชน์จากศักยภาพทางพันธุกรรมที่ปรากฏในสัตว์รุ่นลูก รวมทั้งแผนในการ “5) ประเมินความสามารถทางพันธุกรรม” ของสัตว์รุ่นลูกที่เกิดใหม่แต่ละตัว เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการพิจารณาว่า “การดำเนินการทั้งหมดนั้น สามารถสร้างความก้าวหน้าทางพันธุกรรมให้กับสัตว์รุ่นใหม่มากหรือน้อยเพียงไรและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการปรับปรุงพันธุ์หรือไม่” และในขณะเดียวกัน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ใน “การคัดเลือกสัตว์พันธุ์รุ่นลูกแต่ละตัวที่มีลักษณะดีทดแทนสัตว์พันธุ์รุ่นพ่อแม่ ในการดำเนินงานรอบต่อไปจนกว่าจะบรรลุวัตถุประสงค์ของการปรับปรุงพันธุ์ที่ได้กำหนดไว้”

ภาพที่ 2 ผังขั้นตอนการดำเนินงานในการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ในเชิงปฏิบัติ 

หากพิจารณาอย่างละเอียดจะเห็นว่าขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ดังกล่าว จะมีอยู่เพียง 3 ขั้นตอนการปฏิบัติ (ได้แก่ การคัดเลือก การผสมพันธุ์ และการประเมินความสามารถของสัตว์แต่ละตัว) ที่จำเป็นต้องได้รับการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และหมุนวนกันไป จนกว่าสัตว์รุ่นใหม่จะมีคุณสมบัติดีตรงตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ (ภาพที่ 2) ขั้นตอนการปฏิบัติทั้ง 3 จะถูกดำเนินงานภายใต้กรอบของวัตถุประสงค์และแผนของการปรับปรุงพันธุ์ ดังนั้น หากผู้ผลิตไม่สามารถกำหนดวัตถุประสงค์และแผนการปรับปรุงพันธุ์ได้อย่างชัดเจนและถูกต้อง หรือไม่สามารถดำเนินการในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ผู้ผลิตจะประสบกับปัญหาในความสัมฤทธิ์ผลและความก้าวหน้าทางพันธุกรรมของสัตว์ที่ดำเนินการปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งความรุนแรงของปัญหานั้นขึ้นอยู่กับความแม่นยำ (โดยบังเอิญ) ของการปฏิบัติในขั้นตอนต่างๆ ที่ได้ดำเนินการ