มอบรางวัลเจ้าของแม่พันธุ์โคนมที่มีพันธุกรรมชั้นเลิศ 5 อันดับแรก
องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย โดยฝ่ายวิจัยและพัฒนาการเลี้ยงโคนม ดำเนินงานประเมินความสามารถทางพันธุกรรมโคนม จากการเก็บข้อมูลพันธุ์ประวัติโคนม ข้อมูลผลผลิตน้ำนม และข้อมูลจีโนไทป์ ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 จนถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ที่ให้ความร่วมมือกับอ.ส.ค. ในการจดบันทึกข้อมูลพันธุ์ประวัติ และข้อมูลผลผลิตน้ำนมของโคนมเป็นรายตัว อีกทั้งสนับสนุนผู้เลี้ยงโคนมให้มีการจัดการด้านการจดบันทึกข้อมูลฟาร์ม ข้อมูลการปรับปรุงฝูงโคนม เพื่อพัฒนาให้เป็นฟาร์มที่มีข้อมูลในการปรับปรุงพันธุ์ครบถ้วน สำหรับบริหารจัดการฟาร์ม ด้านอาหาร โรงเรือน การสุขาภิบาลโรค ที่สอดคล้องเหมาะสมต่อไป และทำให้ประเทศไทย มีฐานข้อมูลโคนมที่สามารถนำไปสู่การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในการปรับปรุงพันธุ์ ให้มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น จึงขอมอบรางวัลให้แก่เจ้าของแม่พันธุ์โคนมที่มีพันธุกรรมชั้นเลิศ 5 ลำดับแรก จากผลการประเมินค่าความสามารถทางพันธุกรรมโคนม ประจำปี 2565 โดยผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย นายสมพร ศรีเมือง มีรายชื่อตามลำดับดังนี้
1.คุณกำพล พนมใหญ่
2.คุณไชยรัตน์ ศิริมังคลานุรักษ์
3.คุณสุวรรณ์ พรมภักดี
4.คุณสนั่น ขำศิริ
5.คุณอาบีดิน เจะมาริกัน
หนังสือค่าการผสมพันธุ์โคนม อ.ส.ค. ประจำปี 2565
ความสามารถทางพันธุกรรมพ่อแม่พันธุ์โคนม อ.ส.ค เป็นแหล่งข้อมูลทางพันธุกรรมที่ครอบคลุมเกี่ยวกับพ่อและแม่พันธุ์โค ซึ่งเผยแพร่เป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 ประกอบด้วยข้อมูลทางพันธุกรรมโดยละเอียดเกี่ยวกับพ่อแม่พันธุ์ในประชากรโคนมของไทย พร้อมกับการจัดอันดับสัตว์โดยพิจารณาจากความสามารถทางพันธุกรรมสำหรับลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ช่วยให้ผู้ผลิตโคนมในประเทศไทยและประเทศใก้ลเคียงสามารถระบุและคัดเลือกพ่อพันธุ์ที่ดีที่สุดสำหรับใช้ประโยชน์ในโปรแกรมการผสมพันธุ์
หนังสือความสามารถทางพันธุกรรมพ่อแม่พันธุ์โคนม อ.ส.ค. ประจำปี 2565 เป็นการประเมินความสามารถทางพันธุกรรม ครั้งที่ 7 ในประเทศไทย ซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือระหว่าง อ.ส.ค. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยฟลอริดา โดยมีข้อมูลลักษณะปรากฎและพันธุ์ประวัติของโคที่ให้ผลผลิตน้ำนมครั้งแรก 13,712 ตัว จากฟาร์มโคนม 1,260 แห่งทั่วประเทศไทย นอกจากนี้เรายังใช้เครื่องหมาย SNP จริง และที่ทำนายได้ จำนวน 116,824 ตำแหน่งจากโค 5,018 ตัว ที่ถูกเลี้ยงดูในประเทศไทย ชุดข้อมูลลักษณะปรากฎ พันธุ์ประวัติและพันธุกรรมจีโนมที่สะสมถูกใช้คำนวณค่า GEBV สำหรับทุกลักษณะของสัตว์ทุกตัวในประชากร ความแม่นยำของ GEBV โดยเฉลี่ยสูงกว่าความแม่นยำของ polygenic EBV เดิม 5.63% หนังสือความสามารถทางพันธุกรรมพ่อแม่พันธุ์โคนม อ.ส.ค. รวมคำอธิบายโดยละเอียดเกี่ยวกับการใช้ GEBV สำหรับการปรับปรุงพันธุกรรม เพื่อช่วยให้ผู้ผลิตโคนมคัดเลือกพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการปรับปรุงพันธุ์ของตนเอง
สามารถดาวน์โหลดฟรีได้แล้วที่นี่ เพียงคลิก